เศรษฐกิจรัสเซียส่งสัญญาณฟื้นตัว
ในปี 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจรัสเซียต้องเผชิญกับภาวะยากลำบาก จากราคาน้ำมันที่ดิ่งฮวบลงทั่วโลกและมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกในกรณีการผนวกรวมแคว้นไครเมียเข้ากับรัสเซียและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญในยูเครน
หลังจากหนึ่งปีของการค่อยๆแก้ไขสถานการณ์ เศรษฐกิจรัสเซียก็เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวให้เห็น ผู้นำประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นในปีหน้า ถึงแม้จะมีการพยากรณ์ว่าราคาน้ำมันจะยังไม่พุ่งกลับขึ้นมา พร้อมกับการคงมาตรการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกที่มีต่อรัสเซียต่อไป ซึ่งความกดดันจากทั้งสองเรื่องนี้ทำให้ยากที่รัสเซียจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น
แหล่งพลังงานธรรมชาตินับเป็นหัวใจของประเทศรัสเซีย การส่งออกน้ำมันในปริมาณมหาศาลส่งผลให้เกิดภาวะล้นตลาดและราคาน้ำมันดิ่งเหวจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,500 บาทต่อบาร์เรล (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ช่วงต้นปี 2557 ลงมาอยู่ที่ประมาณ 36 ดอลลาร์สหรัฐฯ 1,260 บาทต่อบาร์เรลในปัจจุบันและมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีต่อรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
จากการที่ประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของราคาน้ำมัน กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพีของรัสเซียจะหดตัวลงไป 5% มูลค่า28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 980,000 ล้านบาทจากรายได้ของรัฐบาลในปีนี้
ภาวะวิกฤตินี้ยังส่งผลกระทบให้เงินรูเบิ้ลซึ่งเป็นสกุลเงินประจำชาติอ่อนค่าลงไปถึง 72.7% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในช่วงเวลาจากเดือนมี.ค. 2557 ถึงเดือนธ.ค.ปีนี้ จึงทำให้ต้องลดการนำเข้าและมีการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ย่ำแย่นี้
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะที่ชวนให้ท้อถอยและหมดกำลังใจ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ก็เรียกร้องให้ภาครัฐมองโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในแง่ดี โดยพยายามปรับปรุงการบริหารของรัฐบาลและหาช่องทางดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ
เพื่อเป็นการตอบสนองต่อคำแถลงของประธานาธิบดี นายดีมิทรี เมดเวอเดฟ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมต่อต้านวิกฤติหนึ่งปีในเดือนม.ค.นี้ มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,050,000 ล้านบาทเพื่อคงเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายดีมิทรี โพเลวอย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารING ให้ความเห็นว่าการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจในบางภาคส่วน เช่น การผลิตอาหาร ก็จริง แต่เขาเชื่อว่ายังมีความต้องการการลงทุนที่มากกว่านี้ เขากล่าวว่า
“การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการลงทุนสูง จากภาครัฐหรือภาคเอกชน แต่ในความเป็นจริง มีเงินงบประมาณมาให้น้อยมาก และไม่ค่อยเห็นเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนเลย”