นานาชาติขานรับลดภาวะโลกร้อน
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. การประชุมสหประชาชาติเรื่องสภาพอากาศได้บรรลุผล หลังจากที่ 190 กว่าประเทศทั่วโลกได้รับหลักการแรกที่จะเข้าร่วมในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยมีสาระสำคัญของข้อตกลง ดังนี้
เป้าหมายในระยะยาว : วัตถุประสงค์ในระยะยาวของข้อตกลงนี้คือ การทำให้อุณหภูมิของโลกที่อยู่ในภาวะโลกร้อนลดต่ำลง 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮท์) และพยายามต่อไปที่จะขีดวงจำกัดให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิคงอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์)
โดยอุณหภูมิของโลกร้อนเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส (1.8 องศาฟาเรนไฮท์) ตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศต่างให้คำมั่นที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์จะลดลงไปอยู่ในระดับที่ปลอดภัยจนป่าและมหาสมุทรซึมซับได้
เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว ทุกประเทศต่างเห็นพ้องที่จะตั้งเป็นวาระแห่งชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุก 5 ปี มากกว่า 180 ประเทศได้ยอมรับการเข้าร่วมในรอบแรกนี้
ในปี 2563 โดยคาดการณ์ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะลดการปล่อยอากาศเสียได้อย่างสมบูรณ์ และประเทศกำลังพัฒนาจะพยายามทำอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทบทวนเป้าหมาย : การตั้งเป้าหมายร่วมกันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกเป็นไปอย่างที่ต้องการ ดังนั้น ในข้อตกลงจึงขอความร่วมมือจากรัฐบาลทุกประเทศให้ทบทวนเป้าหมายในอีก 4 ปีข้างหน้าและคิดว่าจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในอนาคตอย่างไร นี่ไม่ได้เป็นการบังคับให้รัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้นอีก แต่มีความหวังถึงความเป็นไปได้ที่ทุกประเทศจะแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนอย่างน่าชื่นชมและมีประสิทธิภาพ
ความโปร่งใส : ไม่มีบทลงโทษสำหรับประเทศที่ทำไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ แต่กฎความโปร่งใสของข้อตกลงคือเพื่อช่วยให้แต่ละประเทศทำอย่างที่พูดว่าจะทำ โดยประเทศจีนได้ขอให้ลดข้อจำกัดลง
ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ข้อตกลงระบุว่าทุกประเทศต้องรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความพยายามที่จะลดการปล่อย แต่อนุญาตให้มีการยืดหยุ่นได้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความจำเป็นจริงๆ
เงินทุน : ข้อตกลงระบุให้ประเทศร่ำรวยต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยให้เป็นไปตามสมัครใจของแต่ละประเทศ จึงเป็นการปูทางให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ถึงแม้จะไม่มีการบังคับก็ตาม จำนวนเงินทุนจะถูกเก็บไว้ตามข้อตกลง แต่ประเทศร่ำรวยได้ให้คำมั่นที่จะจัดหาเงินเพิ่มเพื่อสมทบในกองทุนสภาพอากาศ ในแต่ละปีให้ได้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3,500,000 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในปี 2563
การสูญเสีย และความเสียหาย : ในข้อตกลงยังได้ผนวกส่วนของ “การสูญเสีย และความเสียหาย” เข้าไว้กับหายนะที่เกิดจากสภาพอากาศ โดยสหรัฐฯ คัดค้านที่จะให้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในข้อตกลง เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการชี้นำให้เกิดการเรียกร้องค่าชดเชยจากความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศมากเกินไป แต่ในที่สุดก็มีการบรรจุหัวข้อนี้ลงไป แต่ให้มีเชิงอรรถต่อท้ายว่า การสูญเสีย และความเสียหายจะไม่เกี่ยวข้องกับหนี้สิน และค่าทดแทน