จีนรับเงินกู้แก้ปัญหามลพิษ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) จะปล่อยเงินกู้ให้จีนจำนวน 300 ล้านดอลลาร์ หรือ 10,500 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อช่วยในการแก้ปัญหามลพิษขั้นร้ายแรงในกรุงปักกิ่งและบริเวณโดยรอบ
ADB รายงานว่า คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่จนถึงระดับเลวร้ายที่สุดเป็นอันตรายต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน
จีนตั้งเป้าจะใช้เงินกู้นี้เพื่อตัดลดการใช้ถ่านหินในภูมิภาคนี้เป็นหลัก ท่ามกลางสาเหตุอื่นๆ ของปัญหามลพิษ โดยจีนเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากที่สุดในโลก
ADB รายงานว่า เงินกู้นี้จะถูกใช้เพื่อการแก้ปัญหามลพิษในกรุงปักกิ่งเป็นหลัก และเมืองที่อยู่ในบริเวณโดยรอบ รวมถึงเมืองเหอเป่ยและเทียนจินด้วย
โดยภูมิภาคนี้มีจำนวนประชากรมากกว่า 100 ล้านคนและนับเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน
นายซาโตชิ อิชิอิ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเขตเมืองของ ADB กล่าวว่า “นับเป็นคุณภาพอากาศเลวร้ายแตะระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของประชาชนที่เกิดขึ้นในเขตเมืองหลวง” เขากล่าวต่อไปว่า
“ด้วยความช่วยเหลือจากทาง ADB จะช่วยลดการปล่อยควันพิษ และสนับสนุนให้กรอบการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแข็งแกร่งขึ้น และขยายความสามารถในการจับตาด้านสิ่งแวดล้อมและบังคับใช้ให้จริงจัง”
เขายังกล่าวเสริมอีกว่า “คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน ทั้งในภูมิภาคนี้และในที่ห่างไกลออกไป”
เงินกู้จากADB เพื่อการแก้ปัญหามลพิษนี้ เป็นไปตามผลสรุปจากการประชุมสภาพอากาศโลกครั้งล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปารีส ในสัปดาห์นี้
โดยทางธนาคารได้รายงานว่า เงินกู้จำนวนนี้จะมีผู้ร่วมจ่ายคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเยอรมนี KfW เป็นจำนวนเงิน 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,740 ล้านบาท
ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากปัญหามลพิษในกรุงปักกิ่งที่อันตรายถึงระดับสีแดงเป็นครั้งแรกเมื่อต้นสัปดาห์นี้
มีการประกาศการเตือนภัยมลพิษในอากาศระดับสีแดงตั้งแต่วันที่ 7-10 ธ.ค.ในกรุงปักกิ่ง โดยได้มีการสั่งปิดโรงเรียน ห้ามการก่อสร้างนอกสถานที่ จำกัดการขับขี่รถยนต์โดยใช้เลขทะเบียนรถเป็นเกณฑ์ และบางโรงงานก็ถูกสั่งให้หยุดดำเนินการชั่วคราว
ควันพิษที่ถูกปล่อยจากอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ระบบการทำความร้อน และฝุ่นละอองจากสถานที่ก่อสร้างล้วนเป็นสาเหตุรวมกัน ให้กลายเป็นหมอกควันพิษระดับอันตรายในจีน
โดยได้มีการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่กรุงปักกิ่งได้สูงถึง 291 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงการเตือนภัยระดับสีแดง ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลกที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหลายเท่า
ปัจจุบัน ถึงแม้จีนจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านแหล่งพลังงานทดแทน แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินมากกว่า 60%