อินเดียห้ามรถเก่าวิ่งหวังลดมลพิษ
รัฐบาลอินเดียจะสั่งห้ามรถบรรทุก และรถโดยสารประจำทางที่เก่ากว่า 15 ปีวิ่งบนถนน เพื่อลดระดับมลพิษในอากาศ
ในกรุงเดลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดียกำลังประสบกับปัญหามลพิษในอากาศขั้นรุนแรง เนื่องจากควันท่อไอเสียจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซล ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารต่างๆ และการเผาตอซังข้าวในไร่นาที่อยู่รอบเมือง
ข้อมูลระบุว่า มลพิษในอากาศเป็นสาเหตุเบื้องต้นของการเสียชีวิตของประชาชนในอินเดียมากกว่า 600,000 คนในแต่ละปีจากรายงานขององค์การอนามัยโลก เมืองใหญ่ในอินเดีย 13 เมืองจาก 20 เมือง ล้วนแต่เต็มไปด้วยมลพิษในอากาศ
คำสั่งห้ามนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในเดือนเม.ย.ปีหน้า และจะมีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน 2 สัปดาห์หน้า
โดยคำสั่งห้ามนี้ครอบคลุมถึงรถบรรทุก และรถโดยสารเก่าที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยควันพิษออกมามากเกิน 50% ของพาหนะทั้งหมดในอินเดีย
นายวิชัย จิบเบอร์ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลการคมนาคมบนถนน และทางหลวง ให้สัมภาษณ์ว่า “มลพิษในอากาศจะแย่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ถ้าเราไม่เริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ “
อย่างไรก็ตามอาจจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มอีก ถ้าอินเดียต้องการจะแก้ไขปัญหาการปล่อยควันพิษนี้อย่างจริงจัง
นายวิเวก จัตโตพัทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมลพิษจากศูนย์วิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมในกรุงเดลี กล่าวว่า “รัฐบาลควรมีการขึ้นอัตราภาษีรถยนต์และที่จอดรถ เพื่อจำกัดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัว และขยายปริมาณขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด”
จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในอินเดียที่พุ่งทะยานขึ้น ทำให้มีปริมาณรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นบนท้องถนนมากถึง 1,400 คันทุกวัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลอินเดียได้ประกาศว่า จะมีกฎหมายควบคุมการปล่อยปริมาณไอเสียของรถยนต์อย่างเข้มงวดตามมาตรฐานใหม่ภายในปี 2562
มีรายงานว่าในคืนเทศกาลดิวาลี ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวฮินดู ที่จัดขึ้นในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีการวัดค่าปริมาณมลพิษในอากาศได้สูงถึง 40 เท่าจากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปลอดภัยต่อร่างกายจากการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก