เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย
ญี่ปุ่นยังคงมีเศรษฐกิจที่ถดถอย ทั้งที่ไม่ได้มีปัจจัยลบ อย่างเศรษฐกิจโลกดิ่งเหว หรือภัยธรรมชาติร้ายแรงในประเทศมาส่งผลกระทบเลย
ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจถึง 7 ครั้งแล้วในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้น 2 ครั้งในช่วงเวลาที่นายชินโซ อาเบะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่ปี 2555 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ต่อไตรมาส
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เศรษฐกิจของจีนกลับเติบโตพุ่งทะยานไม่มีสะดุด ทำให้จีนสามารถขึ้นแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
นายทาคุจิ โอคุโบ นักเศรษฐศาสตร์ที่บริษัทเจแปน แมคโคร แอดไวเซอร์ เขียนในรายงานหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ในกรุงโตเกียวว่า “จากจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยับเกือบเข้าใกล้ 0%” เขายังรายงานเพิ่มเติมว่า “ถ้าตัวเลขเป็น 0% หรือมีการเติบโตไปในทางลบก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้วสำหรับญี่ปุ่น”
การหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุด มาจากตัวเลขจีดีพี 0.8% ในไตรมาสสิ้นสุดเดือนก.ย.นี้ โดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ตัวเลขคือ 0.7% จึงนับเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
ภาษีการขายที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นเป็นปัจจัยเร่งให้เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีที่แล้ว หลังจากที่ทรุดหนักในปี 2554 และ 2555
ช่วงเวลาของการซบเซานี้ ได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ และการตัดสินใจของหลายบริษัทในการลดจำนวนสินค้าคงค้างในสต็อก มากกว่าที่จะผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
นายฮิโรชิ ชิราอิชิ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทบีเอ็นพี พาริบาส เอสเอ ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า “การหดตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เราต้องหาสาเหตุโดยลงลึกในรายละเอียดว่า เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น” เขากล่าวต่อไปว่า “เป็นเรื่องผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่จะเทียบเคียงการถดถอยทางเศรษฐกิจนี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด”
ทั้งนี้เขายังกล่าวอีกว่า“ในการที่เราจะพิจารณาถึงแนวโน้มของราคาสินค้า เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องจับตามองตลาดแรงงานที่ตึงตัวด้วย ไม่มองแค่ตัวเลขจีดีพีเพียงอย่างเดียว”
จากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 0.5% หรือต่ำกว่า ในขณะที่ตัวเลขของสหรัฐฯ อยู่ที่ 2%
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นในไตรมาสหน้า คล้ายกับความเห็นของนายอากิระ อมาริ รัฐมนตรีผู้มีหน้าที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่กล่าวว่า “คาดการณ์ว่า บรรยากาศทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป”