สหรัฐฯขาดดุลการค้าปี 62 ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี
วอชิงตัน (รอยเตอร์) – สหรัฐฯขาดดุลการค้าลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีในปี 2562 เนื่องจากสงคราม
การค้าของทำเนียบขาวกับจีนควบคุมการนำเข้า ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับปานกลางได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 แม้การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะชะลอตัวก็ตาม
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯระบุว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง 1.7% ลงมาอยู่ที่ 616,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว นับเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยการนำเข้าสินค้าลดลง 1.7% ในปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกลดลง 1.3% ชี้ให้เห็นว่านโยบาย ‘America First’ ของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้สภาพคล่องของสินค้าลดลง
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าฟื้นตัวอย่างชัดเจนในเดือนธ.ค. หนุนตัวเลขการขาดดุลการค้า 11.9% เป็น 48,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนนั้น
ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “มนุษย์ภาษี” ให้คำมั่นทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีว่าจะลดตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ด้วยการปิดประตูไม่นำเข้าสินค้าที่มีการซื้อขายอย่างไม่ยุติธรรม และจะมีการเจรจาต่อรองเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีใหม่กับหลายประเทศ
ในช่วงพีคของสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีนในปีที่แล้ว สหรัฐฯมีมาตรการภาษีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯกับสินค้าจีน รวมถึงสินค้าบริโภค ทำให้การนำเข้าลดลง
ความตึงเครียดของสงครามการค้าที่กินเวลานาน 19 เดือนคลี่คลายลงเมื่อวอชิงตันและปักกิ่งลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้านี้ สหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คือประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด
มูลค่าการค้าช่วยหนุนตัวเลข GDP เกือบ 1.5% ในไตรมาส 4 สูงกว่าตัวเลข 1.2% ที่ได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
โดยเศรษฐกิจไตรมาส 4 เติบโตในอัตรา 2.1% ต่อปี เท่ากับตัวเลขในไตรมาสเดือนก.ค. – ก.ย. ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.3% ในปี 2562 ชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากขยายตัวถึง 2.9% ในปี 2561
การส่งออกสินค้าเติบโต 0.9% มาอยู่ที่ 137,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนธ.ค. โดยได้อานิสงส์จากการจัดส่งน้ำมันดิบ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกสินค้าอื่นที่เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลงมาอยู่ที่ 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ การส่งออกปิโตรเลียมในเดือนธ.ค.มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 17,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ.