จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯลดลง 8.5%
ปักกิ่ง : จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯน้อยลงในปีที่แล้ว เนื่องจากสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่างขึ้นภาษีโต้ตอบกันในสงครามการค้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเตรียมพร้อมจะลงนามในข้อตกลงการค้าเพื่อลดความตึงเครียด
ความแตกต่างอย่างมหาศาลด้านสมดุลการค้าเป็นประเด็นหลักของโดนัลด์ ทรัมป์ในการแสดงจุดยืนมานาน ทำให้เขาขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้จีนโต้กลับ และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก
จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯประมาณ 295,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 8.99 ล้านล้านบาท ) ในปี 2562 ลดลง 8.5% จากปี 2561 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 323,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากข้อมูลของกรมศุลกากร
โดยในเดือนธ.ค. จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯประมาณ 23,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 705,280 ล้านบาท ) จากเดิม 24,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพ.ย.
การประกาศข้อตกลงการค้าขนาดย่อมในเดือนธ.ค. จะทำให้ปักกิ่งซื้อสินค้าสหรัฐฯเพิ่ม 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในช่วงเวลา 2 ปี จากข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จีนยังไม่มีการยืนยันตัวเลขต่อสาธารณะ
รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ยกเลิกภาษีใหม่กับสินค้านำเข้าจากจีน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีผลในเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ยังลดภาษีลงครึ่งหนึ่งกับสินค้ามูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีกำหนดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
แต่ทางวอชิงตันยังคงอัตราภาษี 25% กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้ดังเดิม
ในช่วงก่อนลงนามข้อตกลงการค้าเพื่อลดระดับความตึงเครียด เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ทางสหรัฐฯได้ยอมถอนคำพูดที่ระบุว่า จีนควบคุมแทรกแซงค่าเงินหยวน ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
การลงนามในข้อตกลงใหม่ มีความสำคัญและส่งสัญญาณเชิงบวก ไม่เฉพาะกับจีนและสหรัฐฯเท่านั้น แต่กับทั้งโลกด้วย
ในเดือนธ.ค. กาารส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 7.6% เป็นการเติบโตนับตั้งแต่เดือนก.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ 2.9% จากผลสำรวจของบลูมเบิร์ก โดยการนำเข้าพุ่งทะยานขึ้นถึง 16.3% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
ทั้งนี้ สำหรับทั้งปี 2562 ยอดส่งออกเติบโต 0.5% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 2.8%
Nick Marro จาก Economic Intelligence Unit ระบุว่า การฟื้นตัวของการส่งออกโดยรวมของจีนในเดือนธ.ค.2562 มีแนวโน้มว่าเกิดจากฐานเปรียบเทียบต่ำจากปีก่อนหน้า
“เป็นช่วงเวลาประมาณนี้ในปีที่แล้ว เมื่อเราเริ่มเห็นผลกระทบจากทั้งสงครามการค้าและการชะลอตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กระทบข้อมูลการค้าของจีน” เขาเสริม
ขณะที่การส่งออกไปยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น แต่ตลาดเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่สหรัฐฯได้ทั้งหมด
“ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจีนที่จะปักหมุดแหล่งดีมานด์ทางเลือกอื่น เพื่อทดแทนส่วนของสหรัฐฯที่หายไป อาจเริ่มเห็นผล” เขากล่าว โดยเสริมว่าการเติบโตของการส่งออกไปเวียดนามแซงหน้าตลาดส่งออกสำคัญอื่นๆ.