โอเปกลดผลิตน้ำมันอีก 5 แสนบาร์เรล/วัน
รัฐมนตรีพลังงานจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกตกลงที่จะลดเพดานการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันจนถึงเดือนมี.ค.2563
กลุ่มประเทศโอเปก และประเทศพันธมิตรที่ไม่ใช่โอเปก ซึ่งมักจะเรียกกันว่าโอเปก+ ตัดสินใจที่จะกระชับนโยบายผลิตน้ำมันให้เข้มข้นขึ้นอีกในการประชุมราย 2 ปีที่กรุงเวียนนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยข้อตกลงใหม่ในการลดเพดานการผลิตน้ำมัน ซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จะทำให้กลุ่มโอเปก + ลดปริมาณน้ำมันที่ผลิตโดยรวมลงถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศพันธมิตรพลังงานระบุว่า มีแผนจะทบทวนนโยบายในการประชุมนัดพิเศษในวันที่ 5 – 6 มี.ค.ปีหน้า
ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆหลังการประกาศของกลุ่มโอเปก+ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 64.70 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ขณะที่น้ำมัน West Texas Intermediate (WTI) อยู่ที่ 59.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2%
อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้ายังคงต่ำกว่าช่วงพีคเดือนเม.ย.ประมาณ 15% ขณะที่ WTI ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันเกือบ 12%
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมัน รมว.พลังงานแห่งซาอุดิอาระเบียกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า โควต้าการลดการผลิตน้ำมันของซาอุฯ จะเพิ่มอีก 167,000 บาร์เรลต่อวันจนถึงเดือนมี.ค. 2563
โดยเจ้าชายอับดุลลาซิซ ซึ่งทรงประทับนั่งเคียงข้างบรรดารัฐมนตรีด้านพลังงานของโอเปกในการแถลงข่าวไม่นานหลังการประชุม ทรงอธิบายว่าซาอุฯ สมัครใจจะลดการผลิตน้ำมันลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน หมายความว่าประเทศพันธมิตรจะลดเพดานการผลิตน้ำมันรวมทั้งหมดลงถึง 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ผู้นำโอเปกซึ่งก็คือซาอุฯ ยืนกรานว่าประเทศที่ผลิตน้ำมันเกินโควต้าก่อนหน้านี้ เช่น อิรักและไนจีเรีย ต้องปฏิบัติตามโควต้าของโอเปก
กลุ่มพันธมิตรพลังงานมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียวกันชัดเจนขึ้นหลังจากราคาน้ำมันตกต่ำในช่วงกลางปี 2557 จากซัพพลายน้ำมันที่ล้นตลาด แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดานได้มีส่วนในข้อตกลงและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
ปัจจุบัน สหรัฐฯเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกคือสูงถึง 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 นี้ จากฝ่ายบริหารข้อมูลพลังงานสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561
สหรัฐฯผลิตน้ำมันมากกว่าซาอุฯและรัสเซียในตอนนี้ แม้จะมีสัญญาณว่าการเติบโตของการผลิตชะลอตัวลงในหลายรัฐก็ตาม
หลายปัจจัยเสี่ยงที่มีทั้งซัพพลายน้ำมันจากหินดินดานที่เพิ่มขึ้น ดีมานด์ลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ กลายเป็นภัยคุกคามต่อซัพพลายน้ำมันที่ไม่สมดุลและดีมานด์ที่ผันผวน.