เกาหลีใต้จ่อเลิกร.ร.เอกชนหรู แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ
โซล – เมื่อวันที่ 7 พ.ย. กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ประกาศการตัดสินใจยกเลิกโรงเรียนมัธยมเอกชนหรูทั่วประเทศภายในเดือนมี.ค.2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับปรุงระบบการศึกษาให้เป็นธรรม
“ภายในปี 2568 ร.ร.เอกชนอิสระ , ร.ร.ภาษาต่างประเทศ และร.ร.นานาชาติจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นร.ร.ปกติตามมาตรฐานเดียวกัน และทางกระทรวงจะจัดระเบียบระบบการศึกษาชั้นมัธยม และการศึกษาที่กำหนดอนาคต” ยูอึนเฮ รมว.กระทรวงศึกษาระบุในการแถลงข่าวที่ศูนย์ราชการกลางในกรุงโซล
“ ดิฉันตระหนักถึงความกังวลที่ว่า ความแตกต่างในการศึกษานำไปสู่ความแตกต่างของชนชั้นทางสังคม” เธอกล่าว
โดยเธอเสริมว่า จะมีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในร.ร.มัธยมของรัฐบาลด้วยหลักสูตรที่หลากหลาย และจะเริ่มใช้ระบบให้คะแนนใหม่ในปี 2568
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้มีขึ้นท่ามกลางคำวิจารณ์ว่า ร.ร.เอกชนหรูมีผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาระหว่างคนมั่งมี และคนไม่มี
ร.ร.จัดตั้งขึ้นเพื่อให้รองรับความต้องการที่หลากหลายของนักเรียน แต่มีคำวิจารณ์ดังมากขึ้นถึงโอกาสในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งใบปริญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของทุกคน ตั้งแต่การจ้างงานไปจนถึงเป้าหมายในการแต่งงาน
นักวิจารณ์ยังชี้ว่า ร.ร.เอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่เข้าเรียนได้มีผู้ปกครองที่ฐานะร่ำรวย ทำให้เกิดชนชั้นในระหว่างร.ร.ด้วยกัน ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างร.ร.มากขึ้น และทำให้มีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นกับการศึกษา
ค่าเทอมในร.ร.เหล่านี้แพงกว่าค่าเทอมโดยเฉลี่ย 3 เท่า และผู้ปกครองใช้จ่ายเงินมากกว่า 1.4 – 1.7 เท่ากับการศึกษาเอกชนเพื่อให้ลูกๆได้รับการยอมรับ
โดยในปี 2568 ร.ร.เหล่านี้จะรับนักเรียนด้วยวิธีเดียวกับร.ร.ทั่วไป แต่ยังสามารถใช้ชื่อที่มีอยู่เดิมและคงหลักสูตรพิเศษไว้ และในปีเดียวกัน จะมีระบบการให้คะแนนใหม่ในร.ร.มัธยม โดยนักเรียนชั้นม.5 และม.6 สามารถเลือกวิชาที่อยากเรียนได้ เหมือนการเรียนในมหาวิทยาลัย
เพื่อส่งเสริมศักยภาพในร.ร.ปกติ จะมีการจัดสรรงบอุดหนุนให้จำนวน 2 ล้านล้านวอน( 52,026 ล้านบาท) สำหรับช่วงเวลา 5 ปี
การตัดสินใจของกระทรวงศึกษาครั้งนี้ ได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดาศึกษานิเทศก์หัวก้าวหน้าในหลายเมืองใหญ่ แต่ถูกประณามจากร.ร.เอกชนและบรรดาผู้ปกครองของนักเรียนในร.ร.เหล่านี้
“ ผมคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ ( ประเทศ) เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบร.ร.มัธยมที่แตกต่างกัน” โชฮียอน ศึกษานิเทศก์กรุงโซล ซึ่งเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านร.ร.เอกชนหรูมานานกล่าวในการแถลงข่าว
สหพันธ์สมาคมครูเกาหลีเรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่า “คำประกาศที่ละทิ้งความหลากหลายของร.ร.”
ขณะที่คิมชอลคยอง ประธานสมาคมร.ร.เอกชนระบุในการแถลงข่าวว่า “ ความเสียหายจากการตัดสินใจใช้นโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาลจะตกอยู่กับนักเรียนและผู้ปกครอง และความสับสนและความขัดแย้งจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น”