เยอรมนีกดดัน G20 เซ็นการค้าเสรี

เยอรมนีจะกดดันให้ประเทศสมาชิก G20 ลงนามในข้อตกลงเสรีทางการค้าในการประชุมสัปดาห์นี้ถึงแม้ผู้นำสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นก็ตาม
เยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าภาพในการประชุม แสดงออกถึงความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โดยจะชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าเสรีทั่วโลกจากเอกสารเพิ่มเติมในการประชุม อ้างอิงจากแหล่งข่าว
โดยความเคลื่อนไหวเน้นให้เห็นชัดเจนถึงความต้องการของเยอรมนีที่จะปฏิเสธความต้องการของสหรัฐฯ และชักจูงให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 เห็นด้วยกับการทำข้อตกลงเสรีทางการค้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีเตรียมพร้อมที่จะประชุมครั้งแรกกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในวันที่ 17 มี.ค.นี้
เอกสารที่แนบเพิ่มเติมช่วยให้เยอรมนีชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญลำดับแรก และไม่ให้กลุ่ม G20 ถูกบดบังจากสิ่งที่อาจจะต้องมีการดีเบทกันมากขึ้นทั้งประเด็นการกีดกันทางการค้า และ นโยบายค่าเงิน
กลุ่ม G20 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจจะมีการประชุมกันที่เมืองบาเดน-บาเดน ในเยอรมนี ในวันที่ 17-18 มี.ค. และจะเป็นการประชุมครั้งแรกที่มีตัวแทนของทีมบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้าร่วม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่ผ่านมา ร่างคำแถลงการณ์ของกลุ่ม G20 ดูจะผ่อนปรนเข้ากับแนวคิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยตัดประโยคที่ว่า “ ต่อต้านการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ ” ออกไป
แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่พึ่งพาการส่งออกทั่วโลกอย่างจีนไม่เห็นด้วย จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเยอรมนีที่จะต้องประนีประนอมในเรื่องนี้
เยอรมนีมักจะโต้แย้งว่า เศรษฐกิจไม่ควรต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นในระยะสั้น และต้องวางรากฐานให้แข็งแกร่ง เพื่อให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากภาวะช็อก
โดยเยอรมนีหวังว่าประเทศสมาชิก G20 จะลงนามในเอกสารที่เมืองบาเดน-บาเดน ถึงแม้บางคนในคณะรัฐบาลจะไม่แน่ใจว่า ทุกประเทศสมาชิกจะสนับสนุนหรือไม่ในการประชุมครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการทำการค้าเสรี จากการกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้นำทางธุรกิจในเมืองมิวนิก ในสัปดาห์นี้ โดยคาดการณ์ว่า การพบปะหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดด้วย รวมถึงงบการใช้จ่ายด้านความมั่นคง
ทั้งนี้ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเบอร์ลินและวอชิงตัน จากการที่ปีเตอร์ นาวาโร ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่า เยอรมนีหาประโยชน์จากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง และเขายังได้ขู่ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากร 35% ในการนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศ.