เศรษฐีครองทรัพย์สินเกือบครึ่งโลก
จำนวนเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 47 ล้านคนในรอบปีที่ผ่านมา และคนกลุ่มนี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก จากรายงานล่าสุด
ถึงแม้จะมีสงครามการค้า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก และตลาดหุ้นที่ผันผวน แต่จำนวนคนร่ำรวยในโลกเพิ่มขึ้นอีก 1.1 ล้านคนจากกลางปี 2561 ถึงกลางปี 2562 จาก Global Wealthy Report ที่จัดทำโดย Credit Suisse โดยเศรษฐี 46.8 ล้านคนทั่วโลกครอบครองทรัพย์สินมีมูลค่ารวมกันถึง 158,300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ( 4.81 ล้านล้านล้านบาท ) หรือประมาณ 44% ของมูลค่าทรัพย์สินทั่วโลก
โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำของโลกจากจำนวนเศรษฐีที่มีทั้งหมดและที่เพิ่มขึ้นมา ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้น 675,000 คน ทำให้สหรัฐฯมีจำนวนเศรษฐีทั้งหมด
ถึง 18.6 ล้านคน ในขณะที่ญี่ปุ่นมีเศรษฐีหน้าใหม่ 187,000 คน บวกรวมกับที่มีอยู่เดิม ทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนเศรษฐีทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านคน และจีน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวจากความตึงเครียดทางการค้า ยังคงมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้น 158,000 คน ทำให้จีนมีจำนวนเศรษฐีทั้งหมดถึง 4.5 ล้านคน
ออสเตรเลียกลับสวนทางประเทศอื่น คือมีเศรษฐีน้อยลงถึง 124,000 คน ทำให้ออสเตรเลียมีจำนวนเศรษฐีทั้งหมด 1.2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จำนวนที่ลดลงเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน เพราะมูลค่าการครอบครองทรัพย์สินวัดเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่จำนวนคนร่ำรวยในสหรัฐฯมีมากกว่าจีน แต่รายงานระบุว่า จีนแซงสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในแง่ของ ‘ความมั่งคั่งทั่วโลก’ วัดจากการครอบครองทรัพย์สินมากที่สุดใน 10% ของโลก
อ้างอิงจากรายงาน ประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มครึ่งล่างครอบครองทรัพย์สินน้อยกว่า 1% ของความมั่งคั่งทั่วโลก โดย 90% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในโลก ( ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4,500 ล้านคน ) ครอบครองทรัพย์สินเพียง 18% ของโลก
แต่ความเหลื่อมล้ำก็ลดลงเช่นกัน โดยในปี 2543 จำนวนเศรษฐี 1% ควบคุมความมั่งคั่งของโลกประมาณ 47% เมื่อเทียบกับปี 2562 นี้ ที่จำนวนลดลงมาอยู่ที่ 45%
เหตุผลสำคัญคือ ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนขึ้นทั่วโลก โดยกลุ่มคนในโลกที่มีทรัพย์สินระหว่าง 10,000 – 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 304,000 – 3.04 ล้านบาท ) มีการเติบโตมากที่สุด โดยเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3 เท่าจากปี 2543 มาอยู่ที่ 1,700 ล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน
รายงานระบุว่า ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
“ ขณะที่เร็วเกินไปที่จะบอกว่า ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินลดลง แต่หลักฐานชี้ชัดว่าปี 2559 เป็นจุดพีคที่มองเห็นแนวโน้มในอนาคตได้ ”.