รายได้ Q3 หัวเว่ยพุ่ง 27%
เซินเจิ้น / เซี่ยงไฮ้ (รอยเตอร์) – รายได้ในไตรมาส 3 ของบริษัทหัวเว่ยพุ่ง 27% จากยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวก่อนการถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำ ซึ่งมีการคาดกันว่าจะกระทบธุรกิจของบริษัทอย่างหนัก
หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ถูกสหรัฐฯห้ามไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันในเดือนพ.ค. นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนศักยภาพแหล่งที่มาของชิ้นส่วนสำคัญในผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย
โดยบริษัทยังได้รับการยกเว้นจากสหรัฐฯ จนถึงเดือนพ.ย. หมายความว่าบริษัทจะไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีบางอย่างในเดือนหน้า จนถึงตอนนี้ หัวเว่ยเน้นขายสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวก่อนถูกแบนเป็นหลัก
ทั้งนี้ สมาร์ทโฟนรุ่น Mate 30 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ซึ่งเป็นของกูเกิลได้ เปิดตัวและเริ่มขายในเดือนส.ค.
ในเดือนส.ค. หัวเว่ยระบุว่า การคุมเข้มจากสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่แรก แต่อาจทำให้รายได้จากตลาดสมาร์ทโฟนลดลงกว่าเดิมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 305,100 ล้านบาท) ในปีนี้
หัวเว่ยไม่ได้แจกแจงรายละเอียดตัวเลขในไตรมาส 3 แต่ระบุเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่า รายได้ของสามไตรมาสแรกในปีนี้เติบโต 24.4% อยู่ที่ 610,800 ล้านหยวน ( 2.65 ล้านล้านบาท )
โดยรายได้ในไตรมาสสิ้นสุดเดือนก.ย.อยู่ที่ 165,290 ล้านหยวน ( 717,358 ล้านบาท ) จากการคำนวณของสื่อรอยเตอร์บนพื้นฐานของแถลงการณ์ก่อนหน้านี้จากหัวเว่ย
หัวเว่ยระบุว่า ในปีนี้ บริษัทได้จัดส่งสมาร์ทโฟน 185 ล้านเครื่องจนถึงตอนนี้ จากแถลงการณ์ก่อนหน้านี้และการประเมินจากบริษัทวิจัยตลาด Strategy Analytics ชี้ว่า ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนเติบโต 29% ในไตรมาส 3
อย่างไรก็ตาม การเติบโตในไตรมาส 3 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับตัวเลข 39% ที่บริษัทรายงานในไตรมาสแรก หัวเว่ยไม่ได้ชี้แจงตัวเลขในไตรมาส 2 แต่ระบุว่า รายได้เติบโต 23.2% ในช่วงครึ่งปีแรก
“ ผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อถือในแบรนด์หัวเว่ยของลูกค้าของเรา ถึงแม้จะมีการกระทำและการกล่าวหาที่ไม่มีมูลเพื่อต่อต้านเราจากบางรัฐบาลก็ตาม” โจ เคลลี โฆษกของหัวเว่ยกล่าวกับสื่อรอยเตอร์
หัวเว่ย ซึ่งพยายามลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ระบุเมื่อเดือนก.ย.ว่า ได้เริ่มสร้างสถานีฐาน 5G โดยไม่มีชิ้นส่วนของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง เนื่องจากถูกแบนไม่ให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล แม้นักวิเคราะห์จะตั้งข้อสงสัยว่า ระบบฮาร์โมนีของหัวเว่ยยังไม่สามารถเป็นทางเลือกที่ทดแทนแอนดรอยด์ได้
การทำโปรโมชั่น และการเลือกซื้อแบรนด์ในประเทศด้วยความรักชาติของผู้บริโภคชาวจีน ช่วยหนุนยอดขายสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในจีน ( ซึ่งเติบโตเกือบ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับที่เคยสูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสเดือนมิ.ย.) และช่วยชดเชยยอดจัดส่งที่ตกต่ำลงในตลาดทั่วโลกได้.