900 ล้านคนในเอเชียต้องจ่ายสินบน
มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรในเอเชียต้องจ่ายสินบนเพื่อให้ได้โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะในปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากการรายงานขององค์กรเฝ้าระวังที่ไม่แสวงหาผลกำไร
โดยรายงานของผลสำรวจขององค์กร Transparency International ที่มีสำนักงานในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ได้ทำการสำรวจกลุ่มคนมากกว่า 20,000 คนจาก 16 ประเทศและอาณาเขตในเอเชียแปซิฟิกจากปากีสถานถึงออสเตรเลีย จากผลการสำรวจ ประเมินว่าประชากร 900 ล้านคนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่าย ‘ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ‘ อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 12 เดือน
โดยอัตราเงินสินบนที่ต้องจ่ายสูงสุดคือในอินเดียและเวียดนาม ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 2 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาต้องจ่ายสินบนเพื่อให้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่าง การศึกษาขั้นพื้นฐานและการดูแลสุขภาพ
จากผลสำรวจชี้ว่า ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกงและออสเตรเลีย มีเหตุการณ์ที่ประชาชนเกี่ยวข้องกับเงินสินบนค่อนข้างต่ำ และสิงคโปร์ไม่ได้รวมอยู่ในรายงานนี้
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ที่เรียกร้องเงินสินบนมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจ ประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 3 ให้ข้อมูลว่า ต้องจ่ายเงินให้กับตำรวจหากมีเหตุการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกัน
จากผลสำรวจ กลุ่มคนฐานะยากจนได้รับผลกระทบจากเงินทุจริตถึง 38% ซึ่งนับว่าสูงที่สุด โดยกลุ่มคนยากจนเป็นกลุ่มเป้าหมายของการรีดไถในประเทศไทย อินเดียและปากีสถาน ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่ต้องจ่ายสินบนในเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชากลับเป็นคนที่มีฐานะดี
“ รัฐบาลต้องทำหน้าที่มากกว่านี้เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่น การติดสินบนไม่ใช่อาชญากรรมเล็กน้อย เพราะมันแย่งอาหารไปจากโต๊ะกินข้าว ทำให้ขาดการศึกษา ขาดสุขอนามัยที่ดี และที่ร้ายที่สุด ก็อาจทำให้มีการฆ่ากันได้ ” โจเซ อูกาซ ประธาน Transparency International กล่าวในการแถลงข่าว
ในแง่ของการรับรู้เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น มาเลเซียและเวียดนามได้อันดับต่ำสุดจากประชาชนในประเทศ ซึ่งรู้สึกว่าการทุจริตแทรกซึมไปทั่วประเทศและกล่าวหารัฐบาลว่าต่อสู้กับเรื่องนี้น้อยมาก
ข่าวฉาวเรื่องการทุจริตเขย่ารัฐบาลในหลายประเทศในเอเชียในปีที่ผ่านมา ในเกาหลีใต้ ข่าวการทุจริตทำให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีพัคกึนฮเยจากมติของสภา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซียก็มีข่าวพัวพันกับเงินในกองทุน 1MDB นอกจากนี้ ผู้นำของกัมพูชาอย่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซนก็สร้างความร่ำรวยผิดปกติให้ครอบครัวจากการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาอย่างยาวนาน
ในขณะที่จีน ได้ดำเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่โกงกินมากกว่า 1 ล้านคน เวียดนามเองซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกันกลับสั่งจำคุกอดีตนักธุรกิจที่จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนน้อย รัฐบาลไทยเองให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการทุจริตเช่นกัน แต่ยังคงเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่มากพอ.