โพลชี้ญี่ปุ่นขึ้นภาษีกระทบศก.
โตเกียว (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 11 ต.ค.โพลสำรวจของรอยเตอร์ชี้ว่า การขยายตัวที่ยาวนานที่สุดของญี่ปุ่นหลังสงครามกำลังถึงจุดพีค แต่ 2 ใน 3 ของบริษัทคาดการณ์ว่าภาษีบริโภคที่ปรับขึ้นในเดือนนี้โดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะจะกระทบเศรษฐกิจ
บริษัทส่วนใหญ่ในโพลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกจะลดระดับลงสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่กี่เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดการขยายตัวของ ‘อาเบะโนมิกส์’ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2555
โดยนายกฯอาเบะระบุว่า การขึ้นภาษีบริโภคของประเทศ (ซึ่งเลื่อนมาถึงสองครั้งแล้ว) เป็นเรื่องจำเป็นในการลดภาระหนี้ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่นักวิเคราะห์กลัวว่า ภาษีที่สูงขึ้นอาจส่งผลกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและทำให้เศรษฐกิจถดถอย
ผลสำรวจของรอยเตอร์พบว่า 69% ของบริษํทคาดการณ์ว่า ภาษีที่สูงขึ้นจะกระทบกับการเติบโต ขณะที่ 26% ไม่เห็นผลกระทบ และ 5% คิดว่าจะหนุนเศรษฐกิจ
“ การขึ้นภาษีจะกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างแรงจนคาดไม่ถึงกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น” ผู้จัดการคนหนึ่งของบริษัทแปรรูปอาหารระบุในผลสำรวจ
โดย 58% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวในปีหน้า ขณะที่ 41% คาดว่าเศรษฐกิจจะถดถอย และมีเพียง 1% ที่มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตหลังขึ้นภาษี
บริษัทในผลสำรวจของรอยเตอร์ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอย คาดว่าจะอยู่ในภาวะถดถอยอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ 1 ใน 4 คาดว่าจะกระทบถึงระดับฐานรากในปีหน้า และ 56% มองว่าจะกระทบเศรษฐกิจไปถึงปี 2564 หรือนานกว่านั้น
ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งนายกฯอาเบะเลือกให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อกว่า 6 ปีก่อนเพื่อหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวและยุติภาวะเงินฝืดที่ยาวนานหลายทศวรรษ ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อทรัพย์สินมากที่สุดในบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยบางตัวต่ำกว่า 0%
ขณะที่ 57% ของบริษัทในผลสำรวจระบุว่า BOJ ไม่ควรขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้สถาบันการเงินอ่อนแอลง ขณะที่ 47% ระบุว่า การผ่อนคลายจะไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ
จากการพัฒนาเชิงบวกอย่างมีศักยภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ BOJ มากกว่า 2 ใน 3 ของบริษัทในการสำรวจระบุว่า พวกเขาสามารถผลักภาระภาษีบริโภคไปให้ผู้บริโภคทั้งราคาสินค้าและบริการ
นักวิเคราะห์ระบุว่า เนื่องจากอัตราค่าจ้างปรับขึ้นไม่ทันเพื่อชดเชยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาษีที่เพิ่มขึ้นอาจสั่นคลอนอำนาจซื้อของผู้บริโภค และกระทบการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 60% ของเศรษฐกิจประเทศ