จ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ ชะลอตัว
วอชิงตัน (รอยเตอร์) – การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯชะลอตัวมากขึ้นในเดือนก.ย. ชี้ให้เห็นว่าความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งกดดันการผลิตอยู่ก่อนแล้ว เริ่มส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน
ADP National Employment Report ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ยังชี้ว่า การเติบโตของการจ้างงานในภาคเอกชนเดือนส.ค.ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่มีการประเมินมาก่อนหน้านี้ และระบุว่า “ธุรกิจต้องเพิ่มความระวังในการจ้างงาน” โดยบริษัทขนาดเล็กมีความลังเลใจมากเป็นพิเศษ
โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการผลิตดิ่งร่วงลงต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีในเดือน ก.ย. ในรายงานยังเสริมว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซาชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังสูญเสียโมเมนตัม แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
มีการเน้นย้ำถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ส่อเค้ามืดมนจากรายงานอีกฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรวัดสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันในมหานครนิวยอร์กที่ลดฮวบลงต่ำสุดในรอบเกือบ 40 เดือนในเดือนก.ย.
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอนนี้เป็นปีที่ 11 กำลังได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นทางธุรกิจจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 15 เดือนแล้ว
การเติบโตของงานที่ชะลอตัวก่อให้เกิดความกังวลเนื่องจากอาจจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยนายจ้างภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่ม 135,000 อัตราในเดือนก.ย.จากรายงานของ ADP ขณะที่ข้อมูลในเดือนส.ค.มีการปรับแก้ลดตัวเลขลงมาอยู่ที่ 157,000 อัตรา จากเดิมที่มีการประเมินก่อนหน้านี้ที่ 195,000 อัตรา
“ เรายังคงเชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตของการจ้างงานจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม” Daniel Silver นักเศรษฐศาสตร์ที่ JPMorgan ในนิวยอร์กระบุ
ตัวเลขของ ADP มีการเผยแพร่ก่อนข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งจะมีข้อมูลการจ้างงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
โดยรายงานของ ADP ชี้ให้เห็นการจ้างงานในการสร้างสรรค์สินค้าเพิ่มขึ้น 8,000 อัตราในเดือนก.ย. ขณะที่การผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2,000 อัตราและการก่อสร้าง 9,000 อัตรา แต่ทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่ลดลง 3,000 อัตรา
ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่ม 127,000 อัตราในเดือนก.ย. โดยได้แรงหนุนสำคัญจากบริการด้านการศึกษาและสุขภาพ บริการด้านอาชีพและธุรกิจ การค้า ขนส่งคมนาคม และอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค