ญี่ปุ่นขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10%
หลังจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบริโภคมาถึง 2 ครั้ง แต่ในวันที่ 1 ต.ค.ญี่ปุ่นจะขึ้นภาษีบริโภคจากอัตราเดิม 8% เป็น 10% โดยรัฐบาลชี้ว่าการเพิ่มภาระให้ผู้บริโภคเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อหนุนโครงการประกันสังคมและลดจำนวนหนี้ของประเทศ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้ประชาชนไม่ค่อยพอใจ และมีความกังวลว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ก่อนแล้ว
เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษี รัฐบาลจะมีการออกหลายมาตรการเพื่อรองรับในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งรวมถึงรางวัลในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนฟรี และลดการเก็บภาษีอาหารและเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์
รัฐบาลหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยเดิมที่เศรษฐกิจถูกกระทบหลังขึ้นภาษีในปี 2557 และหวังว่าจะหนุนการบริโภคด้วยโครงการใช้จ่ายงบประมาณครั้งใหญ่
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนทำนายว่า หลายมาตรการจะช่วยรองรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีได้ แต่พวกเขายังเตือนว่า การบริโภคจะถูกกระทบอย่างแรงจากความอ่อนไหวของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหนุนให้เศรษฐกิจเติบโต
“ การขึ้นภาษีบริโภคจะเป็นภาระกับครัวเรือน มีมุมมองที่แตกต่างกันว่าผลกระทบจะน้อยหรือมาก เหมือนในปี 2557 หรือเปล่า” ชินิจิโร โคบายาชิ นักเศรษฐศาสตร์ที่ Mitsubishi UFJ Research and Consulting Co. ระบุ
ในปี 2557 ที่รัฐบาลขึ้นภาษีบริโภคจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย GDP หดตัวลง ถึง 2 ไตรมาสต่อเนื่องระหว่างเดือนเม.ย. – ก.ย.ในปีนั้น มีความเสียหายชัดเจนจนนายกฯอาเบะต้องเลื่อนแผนขึ้นภาษีเป็น 10% ในปี 2558 ออกไป
โคบายาชิทำนายว่า ภาษีครั้งนี้จะกระบการบริโภคในไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค. “ แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรงและจะไม่อยู่ยาวถึงต้นปีหน้า”
รัฐบาลอาเบะ ซึ่งพยายามจำกัดผลกระทบของภาษี ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายงบประมาณครั้งสำคัญ
มีการประเมินว่า ภาษีที่ปรับขึ้นมา 2% จะเป็นภาระของครัวเรือนประมาณ 5.7 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า การจัดสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนฟรี และการคงอัตราภาษี 8% กับอาหารและเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และเพิ่มสวัสดิการสังคมจะช่วยลดภาระครัวเรือนได้ประมาณ 2 ล้านล้านเยน ประมาณ 1 ใน 4 ของการปรับขึ้นภาษีมูลค่า 8 ล้านล้านเยนในปี 2557 จากข้อมูลของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น
รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนก.ย.โดยสถาบันวิจัย Daiwa ประเมินว่า ประโยชน์ที่ได้จากโครงการสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนจะมีมากกว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีที่มีต่อครัวเรือนที่มีสมาชิกมากกว่าสองคน หรือประชาชนในวัย 49 ปีหรืออายุน้อยกว่านั้นที่มีบุตรหนึ่งคน หรือมากกว่านั้นที่อยู่ในวัย 3 – 5 ปี ขณะที่ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ หรือคนโสดจะได้รับผลกระทบจากภาษีมากกว่า ในรายงานยังระบุว่า ภาระจากภาษีที่ปรับขึ้นครั้งนี้ที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านเยนยังน้อยกว่าการขึ้นภาษีในปี 2557 โดยการบริโภคจะลดลงไม่มากจนถึงปีงบประมาณหน้า