งบดูแลผู้ลี้ภัยโรฮิงญาพุ่ง
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. มีการจัดประชุมโต๊ะกลมร่วมกันระหว่างสื่อ Daily Star และมหาวิทยาลัยนอร์ธเซาธ์ ที่มีชื่อว่า ‘โรดแมปเพื่อการผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาแก้วิกฤตโรฮิงญาอย่างยั่งยืน’ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และนักวิเคราะห์ความมั่นคง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในประเด็นนี้คือ บังคลาเทศต้องใช้งบประมาณถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 36,924 ล้านบาท ) ในการดูแลนับล้านคนที่อพยพหลบหนีการปราบปรามของทหารเมียนมาในรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนมาบังคลาเทศเมื่อปี 2560
ความพยายามในการส่งคืนชาวโรฮิงญากลับเมียนมาในปีนี้ล้มเหลวเพราะชาวโรฮิงญาปฏิเสธที่จะเดินทางกลับโดยไม่มีการรับประกันความปลอดภัยจากรัฐบาลเมียนมา
เป็นที่เข้าใจว่ากระบวนการส่งคืนชาวโรฮิงญา ซึ่งยังไม่ได้เริ่มต้น อาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ และยิ่งชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในบังคลาเทศนานขึ้น ก็ยิ่งเกิดความเสียหายกับสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจของบังคลาเทศมากขึ้นเท่านั้น
โชคไม่ดีที่เงินทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศเริ่มร่อยหรอ และ 38% ของเงินทุน 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้ในเรื่องอาหารและที่อยู่ของชาวโรฮิงญาในงบประมาณปัจจุบันเป็นข้อผูกพันจากองค์กรระหว่างประเทศ
ความจริงที่แสนเศร้าคือความพยายามทวิภาคีของบังคลาเทศกับเมียนมาในการเจรจาเพื่อส่งคืนชาวโรฮิงญายังไม่ผลิดอกออกผล จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือมากกว่านี้จากสหประชาชาติ จีน และประเทศในอาเซียน ( เมียนมาเป็นสมาชิกของอาเซียน)
แม้จะมีความพยายามจากนานาชาติเพื่อโน้มน้าวให้บรรดาผู้นำของเมียนมาในการจัดการกับวิกฤตโรฮิงญาให้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นภัยคุกคามในหลายมิติ ที่ส่งผลกระทบมากกว่าแค่พรมแดนบังคลาเทศเท่านั้น
นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขประเด็นที่เป็นต้นตอของปัญหา การได้สิทธิ์เป็นพลเมือง และความปลอดภัยของชาวโรฮิงญา เพื่อให้ชาวโรฮิงญาได้เดินทางกลับเมียนมาอย่างมีศักดิ์ศรี
ความล้มเหลวในการดำเนินการอาจเป็นการช่วยหนุนกลุ่มหัวรุนแรงให้รับสมัครและซ่องสุมกลุ่มประชากรที่เคราะห์ร้ายเหล่านี้ จนอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ส่งผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านของบังคลาเทศทั้งหมด.