5 ปีล่าสุด อากาศร้อนสุดทุบสถิติ
สหประชาชาติ : รายงานล่าสุดของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ระบุว่า โลกกำลังมีสภาพอากาศที่เลวร้ายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ช่วง 5 ปีล่าสุดที่สิ้นสุดลงในปี 2562 นี้ เป็น 5 ปีที่มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
โดยรายงานนี้มีการเผยแพร่ก่อนการประชุมซัมมิตในวันที่ 23 ก.ย.ที่จะมีผู้นำระดับโลกเข้าร่วมกว่า 60 ประเทศ โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติผลักดันให้ทุกประเทศลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้า
อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2558 – 2562 พุ่งขึ้นสูงที่สุดกว่าช่วง 5 ปีใดๆ ที่เคยบันทึกมา จากรายงานที่รวบรวมโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization)
โดยในช่วง 5 ปีนี้ “ประเมินว่าอุณหภูมิสูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ( 2398 – 2443 ) 1.1 องศาเซลเซียส และสูงกว่าปี 2554 -2558 ถึง 0.2 องศาเซลเซียส” ทำให้ช่วง 4 ปีล่าสุดเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยบันทึกมาตั้งแต่ปี 2398
กูเตอร์เรสระบุว่า รายงานล่าสุดชี้ว่า ความห่างระหว่างสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก โดยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในปี 2561 คือสูงถึง 37,000 ล้านตัน
ข้อตกลงสภาพอากาศกรุงปารีสปี 2558 มีหลายประเทศที่ตั้งเป้าลดการปล่อยมลพิษเพื่อจำกัดอุณหภูมิในระยะยาวไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียสช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
รายงานระบุว่า แม้ทุกประเทศจะทำได้ตามเป้า แต่อุณหภูมิในโลกก็ยังคงร้อนขึ้นถึง 2.9 – 3.4 องศาเซลเซียส
รายงานยังพบว่า คลื่นความร้อนเป็นความรุนแรงของสภาพอากาศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2558 – 2562 และทำให้แต่ละประเทศมีอุณหภูมิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ช่วงฤดูร้อนของปี 2562 นี้ ซึ่งมีช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดทุบสถิติคือเดือนก.ค. เกิดเหตุไฟป่าอย่างคาดไม่ถึงในพื้นที่เขตขั้วโลกเหนือ
ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อนยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 10 – 20 เมตร
มีการเผยแพร่รายงานนี้ในช่วงเวลาที่เกิดการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคำถามของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. มีบรรดาเด็กๆทั่วโลกหลายล้านคนที่หยุดเรียนเพื่อเดินขบวนเรียกร้องเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะมีการประชุมเรื่องสภาพอากาศของตัวแทนเด็กทั่วโลกเป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติในวันที่ 21 ก.ย.
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. บริษัทยักษ์ใหญ่ 87 แห่ง ที่มีราคาหุ้นในตลาด 2.3 ล้านล้านสหรัฐฯ ( 70.4 ล้านล้านบาท ) ทำข้อผูกพันในการตั้งเป้าลดอุณหภูมิลงให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส.