ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐฯมีมากกว่าจีน

หากดูกันอย่างผิวเผิน จีนดูจะมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันมากกว่าในสหรัฐฯ เพราะมีจำนวนมหาเศรษฐีไม่กี่พันคน ขณะที่อีกหลายล้านคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน
แต่จากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสหรัฐฯ กลับยิ่งแย่กว่าที่เป็นอยู่ในจีนเสียอีกจากรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ นักเศรษฐศาสตร์อย่างฟาคันโด อัลวาเรโด, ลูคัส แชนเซิล, โธมัส พิเคตติ, เอ็มมานูเอล ซาเอซ และ เกเบรียล ซัคแมนพบว่า ความไม่เท่าเทียมกันในสหรัฐฯ และจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ในจีน มหาเศรษฐี 1% มีรายได้เท่ากับ 13% ของรายได้ประชากรในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเมื่อ 30 ปีก่อน ส่วนในสหรัฐฯ มหาเศรษฐี 1% มีรายได้เท่ากับ 20% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งคำนวณคร่าวๆ ก็คิดเป็น 2 เท่าจากเมื่อ 30 ปีก่อนเช่นกัน
แน่นอนว่า มาตรวัดรายได้ของมหาเศรษฐีชาวจีนเป็นงานที่ยุ่งยากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีการซุกซ่อนเงินไว้เป็นจำนวนมาก ดังเช่นที่ระบุไว้ในรายงานว่า “ การประเมินของเราตัวเลขดูจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีการหลีกเลี่ยงภาษีและข้อจำกัดอื่นๆด้านข้อมูลภาษ๊และบัญชีระดับชาติในจีน”
แต่ในรายงานชี้ว่า ยังมีความแตกต่างอย่างมากในทรัพย์สินของผู้มีรายได้น้อยจากทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่ทำให้ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งถ่างกว้างออกไปอีกในสหรัฐฯ
อ้างอิงจากการวิจัย รายได้ของผู้มีรายได้น้อย 50% ในจีน ( ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 9,280 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้กำลังในการซื้อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน) ลดลงจาก 27% ในปี 2521 เหลือ 15%
ขณะที่ในสหรัฐฯ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 50% ( กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ดูเหมือนจะทรุดฮวบลงอย่างรุนแแรงในสัดส่วนของรายได้ในระดับชาติ ในระหว่างปี 2521 – 2558 สัดส่วนรายได้ลดลงจาก 20% เหลือเพียง 12% ซึ่งต่ำกว่าจีนถึง 3 จุด
“ การอภิปรายหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงนโยบายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ควรมุ่งเน้นไปในประเด็นที่ว่า จะกระจายรายได้และทรัพย์สินของคนระดับบนออกไปให้เท่าเทียมกันได้อย่างไร” ผู้ทำวิจัยสรุปประเด็นนี้ไว้เช่นนั้น ซึ่งคงต้องรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การศึกษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม การเข้าถึงทักษะฝีมือและการปฏิรูปค่าแรงขั้นต่ำ.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.22 บาท / 15 ก.พ. 2560