หัวเว่ยลงทุนกว่า 4 หมื่นลบ.เพื่อการพัฒนา
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. หัวเว่ย บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีนระบุว่า จะลงทุนจำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 46,020 ล้านบาท ) ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้างระบบนิเวศที่มั่นคงและเปิดกว้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาบริษัท
โดยหัวเว่ยมีการประกาศโปรแกรมเพื่อผู้พัฒนาครั้งแรกในปี 2558 ตั้งแต่นั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้ระบุว่าได้สนับสนุนผู้พัฒนาไปมากกว่า 1.3 ล้านราย และผู้ขายซอฟต์แวร์อิสระประมาณ 14,000 รายทั่วโลก
ในการกล่าวกับผู้ฟังในงานหัวเว่ยคอนเนคท์ 2562 ซึ่งเป็นงานอีเวนท์ของบริษัทที่จัดขึ้นในเซี่ยงไฮ้ รองประธานเคน หู ระบุว่า หัวเว่ยต้องการขยายโครงการไปให้ครอบคลุมผู้พัฒนาอีก 5 ล้านราย โดยบริษัทยังอยากจะช่วยคู่ค้า “ในการพัฒนาแอปพลิเคชันและโซลูชันอัจฉริยะในยุคหน้า ”
ทั้งนี้ หัวเว่ยมีกำหนดในการเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับโครงการผู้พัฒนาในวันที่ 20 ก.ย.นี้
“อนาคตของการใช้คอมพิวเตอร์เป็นตลาดมหาศาลที่มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 61.36 ล้านล้านบาท )” รองประธานหูกล่าวในถ้อยแถลง
บริษัทระบุว่า การลงทุนมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ประกาศในวันที่ 18 ก.ย. จะเป็นการเดินหน้าเพื่อการพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวม และจะไมมุ่งเฉพาะแต่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของบริษัทเท่านั้น
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่กว้างขึ้นของบริษัท ซึ่งรวมถึงการลงทุนในการวิจัยขั้นพื้นฐานกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีอื่น เช่นปัญญาประดิษฐ์ หัวเว่ยยังระบุว่าจะทำให้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของบริษัทมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับลูกค้าและคู่ค้า
หัวเว่ยประสบกับสถานการณ์ยากลำบากหลังจากถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัท หรือที่เรียกว่า Entity List ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันขายผลิตภัณฑ์ให้หัวเว่ยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ
วอชิงตันพิจารณาว่า หัวเว่ยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงและเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมความลับเพื่อรัฐบาลจีนได้ โดยหัวเว่ยต้องคอยปฏิเสธคำกล่าวหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของหัวเว่ย กล่าวกับพนักงานในเดือนส.ค.ว่า บริษัทกำลังเผชิญกับ “วิกฤตว่าจะอยู่ หรือตาย” และกำหนดกลยุทธ์ให้บริษัทเดินหน้าต่อไป
ซึ่งรวมถึงแผนในการปรับโครงสร้างบริษัทให้ง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนพนักงานในตำแหน่งที่ซ้ำซ้อนกันออกไป
และในเดือนส.ค. บริษัทก็เผยโฉมระบบปฏิบัติการของตัวเองชื่อ หงเมิ่งOs หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ HarmonyOs ที่สามารถใช้ได้หลายอุปกรณ์ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนถึงลำโพงอัจฉริยะและเซ็นเซอร์ ในส่วนนี้ หัวเว่ยระบุว่า หากบริษัทไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลได้ในอนาคต ก็สามารถ “เปลี่ยนไปใช้ HarmonyOs ได้ทันที”