ก.ค.ปีนี้ร้อนสุดในโลกทุบสถิติ
วอชิงตัน : เมื่อวันที่ 15 ส.ค. องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า อุณหภูมิเดือนก.ค.ปีนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลจากดาวเทียมแสดงให้เห็นภาพน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายลดจำนวนลงแตะระดับต่ำสุด
จากข้อมูลของ NOAA อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนก.ค.สูงขึ้น 0.95 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.8 องศาเซลเซียส ทำให้เป็นเดือนก.ค.ที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
“โลกเราร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิพุ่งขึ้นถึงจุดที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา อากาศร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์” NOAA ระบุ
ตัวเลขนี้ได้รับการยืนยันจาก EU’s Copernicus Climate Change Service ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่ามีความสอดคล้องกัน
ในเดือนก.ค.มีคลื่นความร้อนที่ถาโถมเข้ากระหน่ำยุโรป ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนเกือบ 150 ล้านคนต้องดิ้นรนทำตัวให้เย็นสู้อากาศร้อนในพื้นที่ตั้งแต่เทือกเขามิดเวสต์ไปจนถึงชายฝั่งแอตแลนติก โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย
อุณหภูมิที่พุ่งสูงทำสถิติใหม่เห็นชัดเจนเพราะเป็นผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงเกินกว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ เอลนีโญ เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุก 5 – 7 ปีในมหาสมุทรแปซิฟิกคือผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ
“ 9 ใน 10 ของเดือนก.ค.ที่อากาศร้อนที่สุดเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดย 5 ปีล่าสุดเป็น 5 ปีที่ร้อนที่สุด” NOAA ระบุ
รัฐอลาสกาของสหรัฐฯมีเดือนก.ค.ที่อากาศร้อนที่สุด นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติในปี 2548 เป็นต้นมา หลายประเทศในยุโรปก็มีอากาศร้อนทำลายสถิติ และยังเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดทั่วทั้งทวีปแอฟริกาอีกด้วย
มีบางภูมิภาคที่มีอากาศเย็นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยคือแถบสแกนดิเนเวีย ทางตะวันตกและตะวันออกของรัสเซีย โดยมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอย่างน้อย 1.5 องศาเซลเซียส
หรือต่ำกว่านั้น
ปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกเฉลี่ยอยู่ที่ 675,000 ตร.กม.ลดลง 4.3% จากค่าเฉลี่ยในปี 2553 ทำให้มีพื้นที่น้ำแข็งลดน้อยลงมากที่สุดในรอบ 41 ปี
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงสภาพอากาศปารีส ที่ทุกประเทศพยายามหาทางที่จะลดตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นของภาวะโลกร้อนให้ได้ต่ำกว่า 2 องศา
ทั้งนี้ จากการประเมินของ NOAA ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วพบว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง “ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เกษตรกรรม การผลิตและการใช้พลังงาน ที่ดินและแหล่งน้ำ การคมนาคม สุขภาพของมนุษย์และสวัสดิการทั่วทั้งประเทศและดินแดนของสหรัฐฯ ”