หลายประเทศจ่อเก็บภาษีดิจิทัลยักษ์ใหญ่ไฮเทค
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯขู่จะเก็บภาษีดิจิทัลกับประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสประกาศแผนการเก็บภาษีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของสหรัฐฯอย่าง อเมซอน กูเกิล แอปเปิล และเฟซบุ๊กก่อน
โดยกฎหมายนี้ ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบจากวุฒิสภาของฝรั่งเศสแล้วในเดือนก.ค.จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 3% กับบริษัทที่ทำรายได้อย่างน้อย 750 ล้านยูโร ( 25,912 ล้านบาท)
ทั่วโลกจาก ‘ธุรกิจดิจิทัล’ รวมทั้งรายได้จากในฝรั่งเศส 25 ล้านยูโร (863 ล้านบาท) โดยมาตรการภาษีดิจิทัลนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ย้อนหลังถึงวันที่ 1 ม.ค.2562
แต่ฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผลักดันเรื่องการจัดเก็บภาษีดิจิทัลกับบริษัทยักษ์ใหญ่ รัฐบาลประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรปก็กำลังผลักดันมาตรการภาษีของตัวเองกับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคเช่นกัน ถือเป็นความพยายามทั่วโลกที่จะปรับปรุงระบบเก็บภาษีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษกิจและการพัฒนา (OECD) เห็นพ้องกับประเด็นนี้ในเดือนพ.ค. เพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายด้านภาษี “ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ” โดยทาง OECD ยังระบุว่า ยังไม่บรรลุการแก้ปัญหาแบบครบวงจรเรื่องภาษีจนกว่าจะสิ้นปี 2563
ขณะเดียวกัน ความพยายามของสหภาพยุโรปที่จะผ่านร่างมาตรการภาษีดิจิทัลล้มเหลวลงในปีที่แล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสมาชิกหลายประเทศ อย่างไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ อีกหลายประเทศที่เสนอมาตรการภาษีดิจิทัลของตัวเองคือ สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และออสเตรีย
โดยรัฐบาลสหราชอาณาเริ่มเสนอภาษีดิจิทัลของตัวเองในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว และเพิ่งมีการปรับปรุงล่าสุดในเดือนก.ค.ปีนี้ โดยมาตรการภาษีตั้งเป้ากับบริษัทหลายสัญชาติขนาดใหญ่ใน 3 ประเภท คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย , อินเทอร์เน็ตเสิร์ชเอ็นจิ้น และตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์
เหมือนกับกฎหมายของฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรตั้งเป้าเก็บภาษีกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ทำรายได้จากธุรกิจดิจิทัล โดยจะเก็บภาษี 2% กับรายได้ของบริษัทที่ทำรายได้ 500 ล้านปอนด์ ( 18,960 ล้านบาท ) ทั่วโลก และรายได้อย่างน้อย 25 ล้านปอนด์ (948 ล้านบาท) ในสหราชอาณาจักร
รัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า จะจะจัดเก็บภาษีกับรายได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 “มาตรการนี้จะทำให้แน่ใจว่าธุรกิจหลายสัญชาติมีการกระจายรายได้ที่ยุติธรรมเพื่อสนับสนุนบริการสาธารณะสำคัญ” ส.ส.ผู้ผ่านร่างกฎหมายกล่าว
ขณะที่อิตาลีเสนอมาตรการจัดเก็บภาษีดิจิทัลอัตรา 3% และมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 จากข้อมูลของบริษัท KPMG โดยจะจัดเก็บกับ 3 ประเภทบริการคือ โฆษณาดิจิทัล , อินเทอร์เฟซดิจิทัลที่ให้ผู้ใช้งาน “ซื้อ/ขายสินค้าและบริการ” และการ ถ่ายข้อมูลลงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป้าหมายสำคัญคือ กูเกิล อเมซอน และเฟซบุ๊ก
ในเดือนก.พ. สภาของสเปนคว่ำกฎหมายงบประมาณที่ผนวกภาษีดิจิทัล 3% (ที่เรียกกันว่า ‘ภาษีกูเกิล’ ) ซึ่งตั้งเป้าจัดเก็บกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ โดยมาตรการภาษีมีรายละเอียดว่า จะจัดเก็บกับบริษัทที่มีรายได้ทั่วโลก 750 ล้านยูโร ( 25,912 ล้านบาท ) รวมถึง 3 ล้านยูโรในสเปน โดยสเปนระบุว่ามาตรการภาษีจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประเทศถึง 1,370 ล้านยูโร ( 47,333 ล้านบาท ) ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่คณะกรรมาธิการยุโรปตั้งคำถามด้วยความข้องใจ
ทั้งนี้ ออสเตรียพยายามที่จะออกมาตรการภาษีดิจิทัลที่ตั้งเป้ากับโฆษณาออนไลน์ ในเดือนก.ย.นี้ สภาล่างของออสเตรียมีกำหนดจะโหวตร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตรา 5% กับรายได้จากโฆษณาออนไลน์ของบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ โดยรัฐบาลออสเตรียระบุว่า ภาษีจะเพิ่มรายได้ให้ประเทศได้มากถึง 200 ล้านยูโร (6,910 ล้านบาท).