เกาหลีใต้หนุน บ.กระทบจากญี่ปุ่นคุมส่งออก
โซล (บลูมเบิร์ก) – คณะกรรมาธิการการเงิน (FSC) แห่งเกาหลีใต้ระบุว่า จะให้การสนับสนุนทางการเงิน “ อย่างรวดเร็วและเพียงพอ” กับหลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการคุมเข้มการส่งออกของญี่ปุ่น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
สถาบันทางการเงินหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาเกาหลีจะขยายเวลาการชำระหนี้ทันทีกับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดการส่งออกของญี่ปุ่นออกไปอีกหนึ่งปี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการตามมาตรการ ชเวจองกุ ประธาน FSC ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 ส.ค.
ทั้งนี้ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นยะระดับการต่อสู้ทางการค้าขึ้นในสัปดาห์นี้ ทำให้มีพื้นที่เหลือน้อยมากในการหาทางออกจากกรณีพิพาทที่เป็นภัยต่อความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง และซัพพลายทั่วโลก
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ฮิโรชิเกะ เซโกะ รมว.กระทรวงการค้าของญี่ปุ่นประกาศว่า จะถอดเกาหลีใต้ออกจาก white list จุดหมายปลายทางการส่งออกที่เชื่อถือได้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป ขณะที่รมว.กระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ระบุในวันเดียวกันว่า มีแผนจะถอดญี่ปุ่นออกจาก white list หรือประเทศคู่ค้าที่น่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน
“ เรายังพยายามที่จะแก้ไขในประเด็นนี้ด้วยวิธีการทางการทูต ” ฮงนัมกีระบุ “ แต่เราจะถอดญี่ปุ่นออกจาก white list ของเรา และดำเนินการเพื่อควบคุมการส่งออกให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ”
เกาหลีใต้ถูกรวมเข้าไปใน white list ของญี่ปุ่นในปี 2547 และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่อยู่ใน list ในเวลานั้น และในวันที่ 28 ส.ค. เกาหลีใต้จะเป็นประเทศแรกที่สูญเสียสถานะนี้
รัฐบาลเกาหลีใต้ มีแผนจะขยายสภาพคล่องผ่านโครงการสนับสนุนทางการเงินที่หลากหลาย จากข้อมูลของ FSC ชเวระบุว่า FSC เตรียมพร้อมที่จะคงเสถียรภาพของตลาดเงิน โดยเริ่มดำเนินการเร่งด่วนด้วยทีมรับมือฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ และผลกระทบกับธุรกิจ
โดยเมื่อวันที่ 2 ส.ค. สภาเกาหลีใต้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ซบเซา คิดเป็นจำนวนประมาณ 273,200 ล้านวอน เพื่อเป็นการรับมือกับการเข้มงวดในการส่งออกของญี่ปุ่น
คาดการณ์ว่าการถอดออกจาก white list จะมีผลในเดือนนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามต่อภาคส่วนผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอดิสเพลย์ในเกาหลีใต้ เนื่องจากความผันผวนในการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญจากญี่ปุ่น ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับบริษัทที่จะวางแผนการดำเนินการ และถือเป็นการขัดขวางซัพพลายเชนสำคัญทั่วโลก.