‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนรอบใหม่
วอชิงตัน (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า สหรัฐฯจะขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. และอาจขึ้นภาษีได้อีกหากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่ตัดสินใจทำข้อตกลงให้เร็วขึ้น
คำประกาศนี้ขยายขอบเขตภาษีการค้าของทรัมป์จนครอบคลุมสินค้าเกือบทั้งหมดจากจีนที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ และเป็นการสิ้นสุดการพักรบในสงครามการค้าที่ขัดขวางซัพพลายเชนทั่วโลก และทำให้ตลาดเงินผันผวน
“ผมคิดว่าประธานาธิบดีสี …ต้องการทำข้อตกลง แต่พูดตามตรง เขาไม่เร็วพอ” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว
โดยทรัมป์ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้นำในการเจรจาการค้าของเขารายงานสรุปผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่นครเซี่ยงไฮ้ที่ไม่มีความคืบหน้าในสัปดาห์นี้ให้ทรัมป์รับทราบ
ต่อมา ทรัมป์ระบุว่า การเจรจาการค้าที่ล้มเหลวอาจทำให้เขาขึ้นภาษีเพิ่มขึ้น อาจเกิน 25% ที่สหรัฐฯจัดเก็บอยู่กับสินค้านำเข้าจากจีน ที่มีมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวนี้กระทบตลาดการเงินของสหรัฐฯอย่างหนัก
ราคาน้ำมันดิ่งร่วงลง 7% ทันที โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดฮวบลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2559 เป็นต้นมา ดัชนี S&P 500 ปิดลดลง 0.9% และสมาคมค้าปลีกทำนายว่าราคาสินค้าบริโภคจะพุ่งขึ้น
เมื่อถูกถามถึงผลกระทบกับตลาดการเงิน ทรัมป์ตอบผู้สื่อข่าวว่า “ ผมไม่กังวลในเรื่องนี้เลย ”
Moody’s ระบุว่า ภาษีใหม่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจทั่วโลก ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวในสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาษียังบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐฯจากความเสี่ยงของนโยบายการค้า
4 สมาคมค้าปลีกขนาดใหญ่ระบุเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ว่า มาตรการภาษีใหม่จะยิ่งเพิ่มราคาสินค้าบริโภคในช่วงเวลาจับจ่ายใช้สอยก่อนเปิดเทอมใหม่
“ ประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้ครอบครัวอเมริกันเป็นตัวประกันในการเจรจาสงครามการค้าของเขา ” Matt Priest ประธานผู้จำหน่ายรองเท้าและค้าปลีกของอเมริกาให้ความเห็น
Stephen Lamer รองประธานบริหารของสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกันระบุว่า สมาชิกในสมาคมรู้สึกช็อกที่ทรัมป์ไม่ยอมให้การเจรจาการค้าสหรัฐฯ- จีนมีความก้าวหน้าก่อนที่จะตัดสินใจเช่นนี้
โดย Lamer ระบุว่า มาตรการภาษีรอบใหม่จะกระทบกับผู้บริโภคสหรัฐฯมากกว่าผู้ผลิตจีน ซึ่งผลิตเสื้อผ้า 42% และรองเท้า 69% ที่วางขายในสหรัฐฯ