เงินปอนด์ร่วง กังวลเบร็กซิท
ลอนดอน (CNN) – เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ค่าเงินปอนด์ดิ่งร่วงลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี นับเป็นข่าวร้ายสำหรับสหราชอาณาจักร
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ใช้เวลาช่วงวันแรกในทำเนียบนายกฯ ย้ำคำขู่ว่าจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ต.ค. “ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
ตอนนี้ ความกลัวว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงเพื่อปกป้องการค้าหนุนให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงต่ำที่สุดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2560 เป็นต้นมา
โดยค่าเงินปอนด์ร่วงลงต่ำกว่า 1.21 ดอลลาร์สหรัฐฯในวันที่ 30 ก.ค. ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยอัตราแลกเงินต่างประเทศของ Moneycorp ที่ท่าอากาศยาน Gatwick รับซื้อเงิน 1 ปอนด์ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น
ทั้งนี้ ค่าเงินปอนด์เริ่มอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่สหราชอาณาจักรโหวตลงประชามติออกจากอียูในปี 2559
ก่อนหน้าการทำประชามติ เงิน 1 ปอนด์มีการซื้อขายเกือบ 1.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงมาเป็น 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯในเดือน ม.ค. 2560 จากความกังวลว่าอดีตนายกฯ เทเรซา เมย์ จะนำพาสหราชอาณาจักรออกจากตลาดใหญ่มหึมาอย่างอียูและสหภาพศุลกากร
นักวิเคราะห์คิดว่า เงินปอนด์อาจอ่อนค่าลงเพื่อทดสอบระดับอีกครั้ง เนื่องจากนายกฯจอห์นสัน ยังคงกดดันทางอียูอย่างต่อเนื่องให้มีเจรจาใหม่อีกครั้งในข้อตกลงที่อดีตนายกฯเมย์ทำไว้ แต่ถูกทางสภาโหวตคว่ำหลายครั้ง
“(จอห์นสัน) มีจุดยืนที่แข็งกร้าวกับอียู ซึ่งแน่นอนว่า จะถูกปฏิเสธอย่างชัดเจน” Kit Juckes นักกลยุทธ์ประจำ Societe Generale ระบุในเอกสาร
ผู้สนับสนุนเบร็กซิทหลายคนแย้งว่า เงินปอนด์ที่อ่อนค่าอาจช่วยเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรให้กลับมาเข้าที่เข้าทางหลังออกจากอียู
โดยเงินปอนด์จะหนุนการท่องเที่ยวให้สหราชอาณาจักรและช่วยให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงสำหรับผู้ซื้อจากต่างประเทศ ผลประโยชน์ที่ได้อาจเท่ากัน หรือมากกว่าที่จะเสีย
“การลดค่าเงินปอนด์ลงไม่เวิร์ค มันมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี” มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวในสภาเมื่อปีที่แล้ว “นี่เป็นวิธีทำให้ตัวคุณเองจนลง”
เงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น เพราะการนำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลทำร้ายผู้บริโภคที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างที่ได้รับ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก
นอกจากนี้ ค่าเงินที่ทรุดลงอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกังวล และทำให้บริษัทในประเทศที่ต้องจ่ายเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯประสบความยากลำบาก ค่าเงินปอนด์ตกลง 18% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯหลังการลงประชามติ ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3% ในปี 2560
แม้แต่บริษัทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็แสดงท่าทีความกังวลโดยในปี 2560 Virgin Atlantic สายการบินของริชาร์ด แบรนสัน สนับสนุนให้คนอเมริกันประเมินเงินเก็บเพื่อการท่องเที่ยวในกรุงลอนดอนด้วย “เครื่องคิดเลขเบร็กซิท” ออนไลน์
“ฟิชแอนด์ชิป แต่ก่อนราคา 7 ดอลลาร์ ตอนนี้แค่ 5 ดอลลาร์เท่านั้น ถูกจริง !” อ้างอิงจากคำโฆษณา
แต่การท่องเที่ยวคิดเป็นน้อยกว่า 10% ของ GDP และแบรนสันเพิ่งออกมาเตือนว่า Virgin Atlantic จะได้รับผลกระทบหากเงินปอนด์ยังคงอ่อนค่ลง “ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเราคิดเป็นดอลลาร์” เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อ