ไต้หวันพร้อมรับผู้ประท้วงลี้ภัยจากฮ่องกง
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวันยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีผู้ประท้วงจากฮ่องกงลี้ภัยหนีไปไต้หวัน และระบุว่าจะพิจารณาคำร้องที่ยื่นขอลี้ภัยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม
โดยประธานาธิบดีไช่พูดหลังจากมีรายงานจากสื่อว่า มีผู้ประท้วงจากฮ่องกงประมาณ 12 – 60 คนที่เดินทางถึงไต้หวัน หรือมีแผนจะเดินทางไปขอลี้ภัยที่ไต้หวัน หลังจากมีการประท้วงที่กลายเป็นการปะทะรุนแรงในฮ่องกงจากการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีน
“ ดิฉันเชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน” สำนักข่าว Central ของไต้หวันรายงานโดยอ้างถึงคำพูดของประธานาธิบดีไช่ในการแถลงข่าวในเซนต์ ลูเชีย ในวันที่สองของทริปที่เธอไปเยือนประเทศพันธมิตรในแคริบเบียน “ เพื่อนๆจากฮ่องกงจะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมบนพื้นฐานเหตุผลด้านมนุษยธรรม”
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. Radio Free Asia รายงานว่า มีผู้ประท้วงชาวฮ่องกง 10 คนเดินทางมาถึงไต้หวัน ขณะที่แอปเปิลเดลี่ระบุว่า มีผู้ประท้วงประมาณ 30 คนและมีอีก 30 คนที่มีแผนจะเดินทางมาเช่นกัน
คณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันไม่ให้ความสำคัญกับรายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ค.โดยไม่ได้ระบุว่าได้มีการติดต่อกับผู้ประท้วง หรือผู้ประท้วงที่ลี้ภัยมีจำนวนเท่าไรในไต้หวัน ทางคณะกรรมการระบุว่า หากไต้หวันรับคำร้องจากชาวฮ่องกงที่ขอลี้ภัยทางการเมือง หน่วยงานรัฐบาลจะจัดการตามกฎหมาย บนพื้นฐานหลักการที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎข้อบังคับของฮ่องกงและมาเก๊า
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.สภายุโรปโหวตลงมติให้มีการแก้ไขด้วยการถอนร่างกฎหมายออกจากสภาอย่างเป็นทางการ ขณะที่จีนระบุว่าความเคลื่อนไหวนี้แสดงถึง “ ความไม่รู้และมีอคติ”
องค์กรสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ของรัฐระบุว่า ยังไม่ได้รับคำร้องใดๆจากชาวฮ่องกง ซึ่งระบุว่ามีส่วนร่วมในการประท้วง ทางองค์กรชี้ว่าผู้ขอลี้ภัยในไต้หวันต้องเผชิญกับกระบวนการยื่นคำร้องที่ผันผวน
โดยไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดกรอบของสิทธิผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และความรับผิดชอบของประเทศที่มอบสถานะผู้ลี้ภัย และไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัยของตัวเอง
“ หากประชาชนอยากขอลี้ภัย พวกเขาไม่รู้ว่าสถานะของเขามีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ หรือรัฐบาลจะประเมินกรณีของพวกเขาอย่างไร” หวังซี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายขององค์กรระบุ.