เฟซบุ๊กโดนสภาตรวจสอบเงิน Libra

วอชิงตัน (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 17 ก.ค.เฟซบุ๊กจะต้องตอบคำถามของส.ส.ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ มากขึ้น เกี่ยวกับแผนการออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หลังจากวุฒิสมาชิกของทั้งสองพรรคการเมืองออกมาประณามโครงการนี้ โดยระบุว่า บริษัทไม่ได้แสดงความน่าเชื่อถือให้เห็น
บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กกำลังต่อสู้กับทางการสหรัฐฯ หลังจากประกาศแผนช็อกหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลและส.ส.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ว่า มีแผนจะออกสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Libra ในปี 2563
หลังการประกาศ เฟซบุ๊กต้องเผชิญกับคำวิจารณ์จากรัฐบาลและหน่วยงานเฝ้าระวังด้านการเงินทั้งในสหรัฐฯและในต่างประเทศ ซึ่งมีความกลัวแพร่กระจายไปทั่วว่าสกุลเงินดิจิทัลโดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 2,380 ล้านรายอาจส่งผลกระทบร้ายแรงกับระบบการเงิน
โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เดวิด มาร์คัส ผู้บริหารเฟซบุ๊กที่ดูแลโครงการนี้ ถูกไต่สวนจากคณะกรรมาธิการการคลังของวุฒิสภาในประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเงิน Libraซึ่งส่งผลกับข้อมูลส่วนตัว การคุ้มครองผู้บริโภค และการควบคุมการฟอกเงิน โดย เชอร์รอด บราวน์ ประธานคณะกรรมาธิการจากพรรคเดโมแครตระบุว่า แผนการของเงิน Libra นั้นเป็นการหลงผิด
เฟซบุ๊กพยายามปกป้องตัวเองจากการถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล และไม่พยายามมากพอในการป้องกันการแทรกแซงจากรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559
ทั้งนี้ มาร์คัส ซึ่งเป็นประธานของ PayPal ในปี 2555 – 2557 จะเข้ารับการไต่สวนต่อหน้าสภาคองเกรสในวันที่ 17 ก.ค.โดยครั้งนี้จะเป็นคณะกรรมาธิการบริการด้านการเงินของสภาที่มีพรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมาก
การไต่สวนอาจตึงเครียดมากขึ้น โดยคณะกรรมาธิการได้ร่างกฎหมายที่อาจยุติโครงการด้วยการแบนเฟซบุ๊กและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆไม่ให้เข้ามาในภาคส่วนธุรกิจบริการทางการเงิน
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. มาร์คัสพยายามจะทำให้ส.ส.พอใจด้วยการสัญญาว่า เฟซบุ๊กจะไม่เริ่มออกเงิน Libra จนกว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลจะคลายความกังวลลง เขายังได้ระบุว่า บริษัทเปิดเผยโครงการตั้งแต่ขั้นตอนแรกเพื่อจะได้เช็คฟีดแบ็คจากผู้ถือหุ้นโดยรวม