‘มุน’ เร่งญี่ปุ่นเลิกแบนส่งออกวัสดุไฮเทค
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. มุนแจอินประธานาธิบดีประเทศเกาหลีใต้ กระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นถอนคำสั่งห้ามส่งออกวัสดุไฮเทคมายังเกาหลีใต้ ในขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจ เพื่อรับมือกับ “เหตุฉุกเฉินที่คาดไม่ถึง” อย่างใกล้ชิด
ในงานประชุมร่วมกันกับผู้ช่วยประธานาธิบดีอาวุโส ประจำสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีมุนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นได้ละเมิดหลักการค้าเสรี และยังได้กระตุ้นให้ทางญี่ปุ่นพิจารณาอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาทางการเมือง
โดยมุนระบุว่า “ผมขอแนะนำให้ญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการดังกล่าว และขอเรียกร้องให้มีการเจรจาต่อรองอย่างจริงใจต่อกันระหว่างสองประเทศ” เขาเสริมอีกว่าไม่ว่าจะเป็น “วงจรปัญหาด้านมาตรการต่าง ๆ และการตอบโต้” จะไม่ช่วยสร้างประโยชน์ใด ๆ ให้กับทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่ทางประธานาธิบดีมุนยิ่งเน้นย้ำว่าเกาหลีใต้จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการฑูต เขายังเตือนอีกว่า เกาหลีใต้จะไม่สามารถ “ยกเลิกมาตรการจำเป็นใด ๆ ได้” หากคำสั่งห้ามของญี่ปุ่นก่อให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทท้องถิ่น
ประธานาธิบดีมุนไม่ได้ให้ขยายความของคำว่า “มาตรการจำเป็น” แต่เจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า อาจนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่องค์การการค้าโลกเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้ได้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ถอดเกาหลีใต้ออกจากรายชื่อประเทศที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษสำหรับการนำเข้าฟลูออรีน โพลีเอมายด์ ตัวต้านทานและก๊าซกัดจากบริษัทในญี่ปุ่น
ฟลูออรีน โพลีเอมายด์ เป็นวัสดุสำหรับการสร้างจอ LED ที่ยืดหยุ่นได้ ส่วนตัวต้านทานคือวัสดุชั้นบาง ๆ ที่ใช้ในการส่งรูปแบบวงจรไปยังสารกึ่งตัวนำ และก๊าซกัด ใช้ในกระบวนการผลิตสารกึ่งตัวนำ
การถอดชื่อประเทศเกาหลีใต้ของญี่ปุ่น ถูกตีความว่าเป็นการตอบโต้คำสั่งศาลสูงสุดของเกาหลีที่ระบุให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ออกค่าชดเชยให้กับชาวเกาหลี ที่ตกเป็นแรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โดยญี่ปุ่นอ้างว่า ประเด็นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกันกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้มีการตัดสินและตกลงกันด้วยดีแล้วผ่านสนธิสัญญาในปี พ.ศ.2508
ญี่ปุ่นปฏิเสธขอกล่าวหาที่ว่ามีประเด็นทางการเมืองมาเป็นชนวนการห้ามส่งออกวัสดุ และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำของญี่ปุ่น ได้เปรยไว้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการตอบโต้เกาหลีใต้เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดีมุน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้จับตาดูและรับมือปัญหาดังกล่าวใกล้ชิดร่วมกันกับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ และยังได้เน้นย้ำให้ลดการพึ่งพาวัสดุและอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการผลิตที่นำเข้าให้น้อยลง.