ญี่ปุ่นใช้จ่ายครัวเรือนพุ่งเร็วสุดในรอบ 4 ปี
โตเกียว (รอยเตอร์) – ค่าใช้จ่ายครัวเรือนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 4 ปีในเดือน พ.ค. ส่งสัญญาณว่าดีมานด์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากปัจจัยภายนอก
การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นมีความสำคัญสำหรับญี่ปุ่นในการต่อสู้กับภาวะเงินฝืด ซึ่งทำให้บริษัทอึกอักลำบากใจที่จะผลักภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปให้ครัวเรือน
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนเติบโตขึ้น 4.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้อานิสงส์จากช่วงวันหยุดยาว ‘โกลเด้นวีค’ บวกกับวันหยุดเพิ่มจากพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เป็นเวลา 10 วันของปีนี้ จากข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.
เป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2558 เป็นต้นมา ดีกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยที่ 1.6% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มีการหดตัวลง 1.4% ในเดือนเม.ย. ตัวเลขเติบโตขึ้น 5.5%
รัฐบาลมีความหวังมากขึ้นกับการใช้จ่ายครัวเรือนเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยระบุว่า เศรษฐกิจ “ฟื้นตัวขึ้น”
“คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเม.ย. – พ.ค.ได้ฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อน มีแนวโน้มที่จะช่วยฉุดเศรษฐกิจขึ้นจากความอ่อนแรงที่เกิดจากดีมานด์ภายนอก” โยชิกิ ชินเกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยชีวิตไดอิจิระบุ
“ แต่มีความเสี่ยงที่การใช้จ่ายผู้บริโภคจะแย่ลงได้ จากความเชื่อมั่นที่เปราะบาง จากการฟื้นตัวของค่าจ้างที่ซบเซา และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ผันผวน นอกจากนี้หากมีการขึ้นภาษีขายอาจส่งผลกับการใช้จ่ายได้”
ตัวเลขการใช้จ่ายครัวเรือนที่แข็งแกร่งในเดือนพ.ค.มาจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย โทรศัพท์มือถือ ค่าเดินทางขนส่ง และค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเป็นเมฆดำปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก และมีความกังวลว่าผลกระทบที่มีต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจบั่นทอนการบริโภคโดยรวมในประเทศและการเติบโต
หลายคนในรัฐบาลกังวลเรื่องการขึ้นภาษีว่าจะเพิ่มแรงกดดันกับการเติบโต เหมือนกับการขึ้นภาษีในเดือนเม.ย.2557 ที่ส่งผลกับผู้บริโภคและทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะย้ำว่าเขาจะขึ้นภาษีขายเป็น 10% ในเดือนต.ค.นี้ตามกำหนด
ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการคลังที่มีเสถียรภาพ แต่ผู้ว่าการฮารุฮิโกะ คุโรดะส่งสัญญาณความพร้อมที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากแรงกดดันภายนอกรุมเร้าเศรษฐกิจ.