4 ผู้ชนะจากสงครามการค้า
วอชิงตัน – เวียดนาม ไต้หวัน บังคลาเทศ และเกาหลีใต้ กำลังจะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ชาวอเมริกันซื้อสินค้าจากจีนน้อยลง แต่แทนที่จะกลับมาพึ่งพาผู้ผลิตสหรัฐฯ พวกเขาเลี่ยงมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยการมองหาซัพพลายเออร์จากประเทศอื่นๆในเอเชียแทน
แนวโน้มนี้ (ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่าหนึ่งปีในระหว่างการเจรจาการค้าของสหรัฐฯกับจีน) ยังคงต่อเนื่องมาถึงเดือนพ.ค. จากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ก.ค.โดยสำนักสำมะโนประชากร
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่นำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 36% จากไต้หวันเพิ่มขึ้น 23% จากบังคลาเทศ 14% และ 12% จากเกาหลีใต้
มาตรการภาษ๊ของทรัมป์ทำให้สินค้าบริโภคอย่างหมวกเบสบอล กระเป๋าเดินทาง รถจักรยานและกระเป๋าถือที่ผลิตในจีนมีราคาแพงสำหรับผู้นำเข้าในสหรัฐฯ โดยภาษียังส่งผลกระทบกับเครื่องจักรและสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งชิ้นส่วนของเครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า ที่เป่าผมและเครื่องกรองน้ำ
ประมาณ 40% ของบริษัทในการสำรวจของหอการค้าอเมริกันและหอการค้าเซี่ยงไฮ้ระบุว่า กำลังพิจารณาจะย้าย หรือได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วเพราะปัญหาเรื่องภาษีของทรัมป์ ประมาณ 1 ใน 4 ของบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตไปแล้ว ย้ายไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีน้อยกว่า 6% ที่ระบุว่าพวกเขาได้ย้าย หรือพิจารณาที่จะย้ายไปสหรัฐฯ
ขณะที่การนำเข้าจากประเทศอื่นนอกจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ หลายบริษัทได้มีการย้ายการผลิตออกจากจีนไปที่อื่นซึ่งอัตราค่าแรงถูกกว่าก่อนหน้าที่มาตรการภาษีของทรัมป์จะเริ่มต้นขึ้น การนำเข้าของสหรัฐฯ จากหลายประเทศเช่น เวียดนามและเกาหลีใต้มีเสถียรภาพมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมาโดยสหรัฐฯนำเข้าเสื้อผ้าจากเวียดนามและนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้
ไต้หวันและเกาหลีใต้มุ่งเน้นที่สินค้าไฮเทคเช่น เซมิคอนดักเตอร์ แต่เวียดนามและบังคลาเทศยังคงแข่งขันได้จากค่าแรงที่ถูกกว่า ทำให้ทั้ง 4 ประเทศเป็นที่น่าดึงดูดใจที่จะเป็นฐานการผลิตสินค้าหลายรายการทั้งเสื้อผ้าและรองเท้า.