ผู้ขอลี้ภัยในอียูเพิ่มขึ้น
จำนวนผู้ที่ยื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากอเมริกาใต้ แต่คาดการณ์ว่าจำนวนจะน้อยกว่าที่เคยพีคในช่วงเกิดวิกฤตผู้อพยพในยุโรปเมื่อปี 2558 รายงานระบุเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ซึ่งมี 28 ประเทศในยุโรป บวกนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ มีผู้ลงทะเบียนขอลี้ภัยกว่า 290,000 ราย เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จากข้อมูลของสำนักผู้ลี้ภัยยุโรป (EASO)
โดย EASO ระบุว่า จำนวนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนเกิดจากผู้ขอลี้ภัยชาวเวเนซุเอลาและประเทศอื่นๆในอเมริกาใต้ซึ่งอพยพหนีมาจากวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขา
จากเดือนม.ค. – พ.ค. มีชาวเวเนซุเอลายื่นขอลี้ภัย 18,400 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้เป็นประเทศที่ยืนขอลี้ภัยในยุโรปมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากซีเรีย
เวเนซุเอลาประสบกับปัญหาเศรษฐกิจทรุด และยิ่งซ้ำเติมด้วยวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาใต้ โดยประเมินว่ามีชาวเวเนซุเอลามากถึง 3 ล้านคนที่อพยพออกจากประเทศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยส่วนใหญ่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านของเวเนซุเอลา
EASO ระบุว่า ประเทศในยุโรปยังมีจำนวนผู้ขอลี้ภัยมากขึ้นจากโคลัมเบีย , เอล ซัลวาดอร์ , ฮอนดูรัส , นิคารากัวและเปรู
นี่ก่อให้เกิดจำนวนผู้ยื่นขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในสเปนเมื่อปีที่แล้ว โดยชาวเวเนฯมุ่งไปยุโรปเพื่อขอลี้ภัยในประเทศที่มีภาษาและมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน
สเปนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ยื่นขอลี้ภัยมากที่สุด มากเกือบเท่าอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่แบกภาระช่วงวิกฤตผู้ลี้ภัยในปี 2558 ในปีที่แล้ว อิตาลีมีผู้ลี้ภัยลดลงครึ่งหนึ่งหลังจากมีการคุมเข้มพรมแดนมากยิ่งขึ้น
เยอรมนียังคงเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุดในยุโรป แม้จำนวนจะลดลง 17% ในปีที่แล้วคือเกือบ 185,000 คน ฝรั่งเศสเป็นอันดับ 2 และในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 21% เป็น 120,000 คน เป็นสถิติที่สูงที่สุดในฝรั่งเศสจนถึงตอนนี้
มีผู้ยื่นขอลี้ภัยจำนวนน้อยที่ประเทศในยุโรปยอมรับ โดยผู้ที่ถูกปฏิเสธถูกบีบให้กลับบ้าน หรือยื่นขอประเทศในลำดับ 2
ในช่วงพีคของวิกฤตในปี 2558 จำนวนผู้ที่ขอลี้ภัยในยุโรปสูงเกือบ 1.4 ล้านคน ขณะที่ในปีที่แล้ว ผู้ขอลี้ภัยลดลงกว่าครึ่งลงมาอยู่ที่ 665,000 คน
ในปี 2558 ยุโรปประสบกับการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
เนื่องจากชาวซีเรียอพยพหนีจากสงครามการเมือง และยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากหลายพื้นที่ในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความขาดแคลน