กลุ่มสิทธิฮ่องกงหนุนประท้วงช่วง G20
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. กลุ่มผู้จัดการชุมนุมประท้วงเชิญชวนให้ชาวฮ่องกงเข้าร่วมในการ“เดินขบวนอย่างสงบ” ในวันที่ 26 มิ.ย.เพื่อดึงดูดความสนใจในร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้มากขึ้นในช่วงการประชุมซัมมิตของกลุ่มประเทศ G20
Civil Human Rigts Front (CHRF) ซึ่งอยู่เบื้องหลังการชุมชนุมประท้วงสองครั้งใหญ่ในเดือนนี้ ระบุว่าการเดินขบวนจะเริ่มต้นที่เขตใจกลางธุรกิจของฮ่องกงและเคลื่อนขบวนผ่านสถานกงสุลของกลุ่มประเทศสมาชิก G20
“ ในวันที่ 1 ก.ค. เราควรให้ผู้คนมารวมตัวกันมากขึ้นเพื่อบอกแคร์รี แลมและรัฐบาลว่า เรามี 5 ข้อเรียกร้องที่เราไม่ได้รับการตอบรับ” ฟิโก ชาน รองประธาน CHRF พูดถึงผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกง
ผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงในชุดดำประมาณ 2 ล้านคน (แต่ตำรวจบอกว่าประมาณ 340,000คน ) รวมตัวกันเพื่อประท้วงตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งจะส่งตัวผู้ต้องหาไปพิจารณาคดีที่จีน
ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมุนมประมาณ 300 คนที่รวมตัวกันเมื่อคืนวันที่ 23 มิ.ย.หน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีเสียงผ่านลำโพงอย่างต่อเนื่องบรรยายเกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสิ่งที่ต้องทำในกรณีที่ถูกจับกุมตัว
นี่ถือเป็นการขานรับกับคำกล่าวหาว่าตำรวจกระทำการรุนแรง หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ตำรวจปราบจลาจลใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อควบคุมผู้ประท้วงที่มาชุมนุมกันหน้าสภา ซึ่งทางตำรวจชี้แจงว่าต้องควบคุมฝูงชนจำนวนมากที่ขว้างปาก้อนหินและเสาโลหะเข้ามาที่พวกเขา
ผู้ประท้วงหลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อย สวมชุดดำมาชุมนุมกันเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ล้อมรอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในย่านว่านไจ๋นานถึง 16 ชั่วโมงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจกับการกระทำของตำรวจ
โดยผู้ประท้วงปิดถนนสายสำคัญหน้าสำนักงานรัฐบาลกลางและทางเข้าศูนย์ตำรวจ มีการตะโกนว่า “ตำรวจ น่าอาย” พวกเขาเรียกร้องให้ผบ.ตร.สตีเฟน โลให้มาเจรจากับพวกเขา ขณะที่มีการทำลายทรัพย์สินของอาคารและเอาเทปมาคลุมกล้องวงจรปิด
เนื่องจากเป็นการประท้วงที่ดูจะไร้ผู้นำ ผู้ประท้วงจึงเรียกร้องให้มีการยกระดับการชุมนุมหลังจากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พวกเขาเรียกร้องให้มีการถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนออกจากสภาโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่เพียงเลื่อนออกไปก่อนเท่านั้น , ต้องมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนการกระทำของตำรวจเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. , ต้องไม่มีการระบุว่าผู้ประท้วงก่อการจลาจล และปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมในระหว่างการประท้วงโดยไม่มีเงื่อนไข.