บังคลาเทศแบนมือถือในค่ายโรฮิงญา
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในบังคลาเทศถูกสั่งให้ปิดให้บริการกับชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคนในค่ายผู้ลี้ภัยที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
โดยความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากเกิดความรุนแรงต่อเนื่องในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาในค่าย ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หลบหนีการปราบปรามของกองทัพเมียนมาออกมาจากรัฐยะไข่ข้ามพรมแดนมาที่บังคลาเทศเมื่อสองปีก่อน
และหลังจากไม่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาแม้แต่คนเดียวที่ยอมเดินทางกลับไปรัฐยะไข่ของเมียนมาในช่วงปลายเดือนส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการผลักดันชาวโรฮิงญากลับเมียนมารอบใหม่
บริษัทผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมมีเวลา 7 วันในการยื่นรายงานผลการปิดเครือข่ายสัญญาณในค่าย จากถ้อยแถลงของซาคีร์ ฮอสเซน ข่าน โฆษกของคณะกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งบังคลาเทศ (BTRC)
“ ชาวโรฮิงญาจำนวนมากใช้โทรศัพท์มือถือในค่าย เราได้ขอให้ผู้ให้บริการหยุดให้บริการก่อน” เขาให้สัมภาษณ์สื่อ AFP โดยระบุว่าการตัดสินใจนี้เป็นเหตุผลด้านความมั่นคง
คำสั่งนี้ทำให้หนึ่งในบรรดาผู้นำชาวโรฮิงญาคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) รู้สึกตกตะลึงเขากล่าวว่าคำสั่งห้ามนี้ส่งผลกระทบอย่างมากกับชีวิตชาวโรฮิงญา เป็นอุปสรรคกีดขวางการสื่อสารระหว่างค่ายต่างๆในเมือง Cox’s Bazar
ที่ผ่านมา บังคลาเทศพยายามควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือในค่าย แต่การปฏิบัติตามไม่ค่อยจริงจังนัก มีการขายโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดกันอย่างแพร่หลายในค่าย
อิคบัล ฮอสเซน โฆษกตำรวจขานรับการตัดสินใจครั้งนี้ด้วยความยินดี โดยเขาระบุว่า ผู้ลี้ภัยละเมิดกฎการใช้โทรศัพท์มือถือ ด้วยการนำมาเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม เช่น การค้ามนุษย์ หรือค้ายาบ้า ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากเมียนมา
“ นี่จะส่งผลในแง่ดี ผมเชื่อว่าอาชญากรรมจะลดลง” เขากล่าวกับสื่อ AFP
ตำรวจท้องถิ่นระบุว่า มีคดีเกิดขึ้นเกือบ 600 คดีจากการค้ายาเสพติด ฆาตกรรม ปล้นทรัพย์ การสู้กันในแก๊งอันธพาล และการจองล้างจองผลาญกันระหว่างตระกูล หลังจากผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามาอาศัยอยู่ในบังคลาเทศ
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของบังคลาเทศยิงวิสามัญชาวโรฮิงญาไปอย่างน้อย 34 รายในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ายาเสพติด
สหประชาชาติยังไม่มีท่าทีใดๆกับคำสั่งตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาของทางการบังคลาเทศ แต่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของยูเอ็น (ขอสงวนนาม) ระบุว่า นี่จะยิ่งโดดเดี่ยวและทำให้พวกเขาเป็นเหยื่อมากขึ้น
เมียนมาและบังคลาเทศลงนามในข้อตกลงส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนเมียนมาในเดือนพ.ย.2560 แต่ข้อเสนอถูกบรรดาแกนนำในค่ายผู้ลี้ภัยปฏิเสธในเดือนต.ค.
ยูเอ็นมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงในเมียนมา และระบุว่าบรรดาผู้นำในกองทัพมีเจตนา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ในสัปดาห์ที่แล้ว บังคลาเทศกล่าวหาเมียนมา ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ว่าขาดเจตนาที่จะรับชาวโรฮิงญาคืน หลังจากความพยายามครั้งล่าสุดที่จะส่งคืนชาวโรฮิงญากลับเมียนมาล้มเหลว
ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาไม่รับรองสถานะพลเมืองให้กับชาวโรฮิงญาอย่างเป็นทางการ โดยพิจารณาว่า พวกเขาเป็นลูกหลานของผู้บุรุกชาวเบงกาลี แม้หลายครอบครัวจะอาศัยอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม