‘มาครง’ ชี้สายเกินไปที่จะคุยเบร็กซิทอีก
ปารีส (รอยเตอร์) – เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศสกล่าวกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งอังกฤษว่า ไม่มีเวลามากพอที่จะแก้ไขข้อตกลงเบร็กซิทก่อนกำหนดวันที่ 31 ต.ค.นี้
โดยนายกฯจอห์นสันพบกับประธานาธิบดีมาครงที่พระราชวังเอลีเซ่ หนึ่งวันหลังจากพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี ซึ่งตั้งคำถามกับอังกฤษว่าจะมีทางเลือกที่ยอมรับได้หรือไม่สำหรับการจัดการด้านความปลอดภัยที่พรมแดนสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์
นานกว่า 3 ปีแล้วหลังจากสหราชอาณาจักรโหวตลงมติให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป แต่ยังคงไม่ชัดเจนถึงเงื่อนไขที่แท้จริงของการออกจากอียู ซึ่งสหราชอาณาจักรเข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2516
ทางการฝรั่งเศสระบุว่า การพูดคุยระหว่างมื้อกลางวันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์
โดยมาครงเปิดกว้างสำหรับอังกฤษที่จะหาทางออกสำหรับแผนรับมือเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์ แต่ชี้ว่าทางเลือกใดๆต้องเคารพความเป็นเอกภาพของอียู และเสถียรภาพของไอร์แลนด์ซึ่งถูกแบ่งแยกด้วย
“ผมอยากพูดให้ชัดมากๆ” มาครงกล่าว “ ในเดือนต่อจากนี้ เราจะไม่มีข้อตกลงใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม”
ในการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่ง นายกฯจอห์นสันเตือนแมร์เคิลและมาครงว่า พวกเขากำลังเผชิญกับเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค.นี้ นอกจากอียูจะทำข้อตกลงใหม่
ในถ้อยแถลงที่กรุงเฮ้ก แมร์เคิลระบุว่า เธอไม่ได้หมายถึงกำหนดเวลาตอนที่เธอพูดเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ว่า อาจมีทางออกในประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์ภายใน 30 วัน แต่ “เน้นถึงความเร่งด่วน”
ขณะที่จอห์นสันกล่าวกับมาครงว่า เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงก่อน 31 ต.ค. “ มาตกลงเรื่องเบร็กซิทกัน ทำให้สมเหตุสมผลและจริงจังกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และไม่ต้องรอถึง 31 ต.ค.” จอห์นสันกล่าว “ ทำให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งและกระชับการเป็นหุ้นส่วนระหว่างเรามากยิ่งขึ้น”
โดยจอห์นสัน ซึ่งสนับสนุนเบร็กซิทมาโดยตลอด กำลังขู่ว่าความผันผวนของเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงจะหนุนให้แมร์เคิลและมาครงตัดสินใจทำข้อตกลงในนาทีสุดท้ายตามความต้องการของเขา เขายังได้ย้ำถึงการออกจากอียูในวันที่ 31 ต.ค.แบบมี หรือไม่มีข้อตกลง
มาครงยืนยันว่าชะตาของสหราชอาณาจักรอยู่ในมือของจอห์นสันเพียงคนเดียว เขาระบุว่าอียูไม่อยากเห็นสถานการณ์เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง แต่ก็พร้อมหากมันจะเกิดขึ้นเช่นนั้น
นักลงทุนเชื่อว่า เบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลงจะกระทบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร อียู และทั้งโลก ทำลายตลาดการเงิน และสั่นคลอนสถานะของกรุงลอนดอนที่เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศมานาน
ทั้งนี้ แผนรับมือประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ อดีตนายกฯเทเรซา เมย์เจรจากับอียูไว้ว่า จะอยู่ในระบบศุลกากรชั่วคราวกับอียูหลังเบร็กซิท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าข้ามแดน จนกว่าจะพบทางออกที่ดีกว่า
ผู้สนับสนุนเบร็กซิทเชื่อว่า อาจมีการหยุดชะงักเป็นระยะเวลาสั้นๆจากผลกระทบของเบร็กซิทแบบไร้ข้อตกลง แต่ระบุว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากประสบการณ์แย่ๆในอดีตที่ทำให้อียูตกต่ำล้าหลังจีนและสหรัฐฯ