โตโยต้า-ซูซูกิพร้อมเป็นหุ้นส่วนกัน
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นคู่แข่งกันอย่างโตโยต้าและซูซูกิกำลังเริ่มต้นการเจรจาที่จะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในตลาดที่กว้างขวางขึ้น และนักวิเคราะห์ต่างขานรับพันธมิตรที่เหมาะสมลงตัวนี้
ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศเดียวกันต่างกำลังมองหาความเป็นไปได้ที่จะมีการประสานความร่วมมือในพื้นที่ที่สามารถจัดซื้อร่วมกัน สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีความปลอดภัยและสารสนเทศ
“ ผมรู้สึกขอบคุณที่เราสามารถได้รับโอกาสที่ดีที่จะได้ทำงานร่วมกันกับบริษัทอย่างซูซูกิ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณของความท้าทายอย่างเต็มเปี่ยม” นายอาคิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้ากล่าวในการแถลงข่าว
ขณะที่ปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนของทั้งสองบริษัทยังคงขาดรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะเริ่มต้นการทดสอบที่แท้จริงของดีลธุรกิจที่เกิดขึ้นหลังจากบริษัทผู้ผลิตทั้งสองแบรนด์แถลงเมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้วว่าพวกเขากำลังพิจารณาการร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ
“ โตโยต้ามีความกระตือรือร้นมากในการพูดคุยเรื่องการเป็นหุ้นส่วนกัน ในส่วนของซูซูกิเอง ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ” นายโอซามุ ซูซูกิประธานบริษัทซูซูกิกล่าวในงาน แถลงข่าว
นักวิเคราะห์ขานรับข่าวการควบรวมกันในแง่บวก โดยมองว่าซูซูกิจะได้เข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำของโตโยต้ารวมถึงความสามารถในการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากซูซูกิค่อนข้างต้องดิ้นรนในช่วงไม่กี่ปีนี้ ในทางกลับกัน โตโยต้าดูจะได้ประโยชน์จากตลาดที่ซูซูกิเป็นผู้เชี่ยวชาญและได้ส่วนแบ่งในภูมิภาคที่แตกต่างออกไปเช่นในอินเดีย ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายซูซูกิทั่วโลก
“ ยอดขายโตโยต้าซบเซามากในอินเดีย ส่วนซูซูกิมียอดขายที่โอเคเพราะมีการรวมกับมารูติอินเดีย ทำให้ทำสถิติมีกำไรสูงสุด ” นายโคจิ เอนโด นักวิเคราะห์ประจำ SBI Securities ให้ความเห็น
“ ซูซูกิเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ที่เปี่ยมด้วยความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ที่ต้องการทุนในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงทุนในการผลิตเพื่อขยายขนาดเศรษฐกิจ ซูซูกิไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่โตโยต้าสามารถช่วยได้ ” นายเจมส์ เชา นักวิเคราะห์ยานยนต์ที่ IHS ให้ความเห็น
ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้าที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดรถยนต์โดยสารในอินเดียให้ได้ 10% ภายในปี 2568 แต่การควบรวมที่เป็นผลตามมาของดีลธุรกิจดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย
“ เป็นเรื่องยากที่จะทำ โดยเฉพาะเมื่อคุณมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ซูซูกิเองเคยพยายามมาก่อนหน้านี้แล้วกับโฟล์คสวาเกน ซึ่งก็จบลงไม่ค่อยสวยนัก ” นายเชากล่าว