ซิลิคอน วัลเลย์แสดงจุดยืนต้านคำสั่งทรัมป์
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มนายจ้างส่วนใหญ่ของแรงงานต่างชาติ แสดงท่าทีไม่พอใจกับคำสั่งห้าม 7 ชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ โดยผู้บริหารบางคนมองว่า เป็นเรื่องไร้คุณธรรมและไม่ใช่วิถีของชาวอเมริกัน
โดยคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 120 วันและห้ามนักเดินทางจาก 7 ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าสหรัฐฯเป็นเวลา 90 วัน ถึงแม้พวกเขาจะมีวีซ่า หรือมีใบอนุญาตให้พำนักถาวรในสหรัฐฯ ก็ตาม
นายทิม คุก ซีอีโอ ของบริษัทแอปเปิลส่งจดหมายถึงพนักงาน โดยกล่าวว่า “ คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่นโยบายที่เราสนับสนุน ”
นายแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของทวิตเตอร์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ผลสะท้อนของการกระทำเป็นจริงและสร้างปัญหามาก
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายเซอร์จีย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลเข้าร่วมในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สนามบินซานฟรานซิสโก
นายโมซิลลาผู้บริหารไมโครซอฟท์ให้ความเห็นว่าผู้นำสหรัฐฯ นั้น “ หลงประเด็นและไม่สนใจประวัติศาสตร์ ”
โดยสาเหตุของความกังวลของผู้บริหารชั้นนำเหล่านี้คือ ผู้อพยพที่มีความสามารถและทักษะสูง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการทำงานของซิลิคอน วัลเลย์ เนื่องจากสหรัฐฯ เองมีวิศวกรและนักพัฒนาซอฟท์แวร์ไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนงานในบริษัทขนาดใหญ่เหล่านั้นและแรงงานต่างชาติระดับหัวกะทิสามารถเติมเต็มช่องโหว่นี้ได้เป็นอย่างดี
“ เรายังขาดคนเก่งอีกมากในองค์กรของเรา” นายแอรอน เลวี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บ็อกซ์ ซึ่งเป็นบริษัทจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ที่เพิ่งมีมูลค่าเกิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“ เราควรทำให้อเมริกาสามารถแข่งขันได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อสร้างงานในอนาคต นโยบายใดๆ ที่ทำร้ายผู้อพยพต่างชาติทักษะสูงถือเป็นหายนะของประเทศ”
โดยนายเลวีกล่าวว่า คำสั่งนี้ส่งผลกระทบกับพนักงานหลายคนของบริษัทเขา เนื่องจากหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นคนเชื้อชาติอิหร่าน “ เราคิดว่าเป็นนโยบายที่อันตรายมาก”
นายทราวิส คาลานิก ซีอีโอจากอูเบอร์และนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอจากเทสลามีกำหนดจะประชุมกับประธานาธิบดีทรัมป์ในวันที่ 3 ก.พ.นี้ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งนี้
นอกจากนี้ กูเกิลยังได้จัดตั้ง ‘กองทุนวิกฤต’ ขึ้นด้วยเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกลายเป็น 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจาการสมทบทุนของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้ และบริษัทลิฟท์กล่าวว่าจะให้เงินสนับสนุนสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ( ACLU ) จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายใน 4 ปี.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.39 บาท / 31 ม.ค. 2560