อินเดียขึ้นภาษีโต้สหรัฐฯ 28 รายการ
อินเดียจะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯกับสินค้า 28 รายการที่นำเข้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งอัลมอนด์ แอปเปิลและวอลนัท เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. หลังจากสหรัฐฯ ถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของอินเดียออกไป
ทางการอินเดียระบุว่า มาตรการภาษีใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มิ.ย. นับเป็นประเด็นขัดแย้งทางการค้าล่าสุดนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯในปี 2560 และให้คำมั่นว่าจะมีการดำเนินการกับหลายประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าอย่างมากด้วย
จากวันที่ 5 มิ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ฉีกสิทธิพิเศษ GSP สำหรับอินเดีย ซึ่งได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการส่งออกปลอดภาษีที่มีมูลค่าถึง 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ( 175,392 ล้านบาท ) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ สื่อรอยเตอร์รายงานว่า อินเดียเตรียมจะขึ้นภาษีก่อนหน้าการประชุมครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดียกับประธานาธิบดีทรัมป์นอกรอบการประชุมซัมมิต G-20 ที่ญี่ปุ่นในวันที่ 28 – 29 มิ.ย.นี้
โดยในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว อินเดียเผยว่าจะเก็บภาษีในอัตรา 120% กับสินค้าจากสหรัฐฯเพื่อเป็นการตอบโต้ที่สหรัฐฯไม่ยอมยกเว้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมให้อินเดีย แต่อินเดียก็เลื่อนเวลามาตรการโต้ตอบทางภาษีออกไปเพราะทั้งสองประเทศมีการเจรจากัน
โดยในปี 2561 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าประมาณ 142,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 4.45 ล้านล้านบาท)
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. รัฐบาลอินเดียประกาศว่า “จะดำเนินการเก็บภาษีเพื่อเป็นการโต้ตอบกับสินค้า 28 รายการที่ส่งออกมาจากสหรัฐฯ” ขณะที่ยังคงอัตราภาษีเดิมกับสินค้าจากประเทศอื่น
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ปรับขึ้นกับสินค้าสหรัฐฯอาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศ
ไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะไปเยือนอินเดียในเดือนนี้ ระบุว่า สัปดาห์นี้ สหรัฐฯเปิดกว้างให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางการค้ากับอินเดีย เพื่อให้บริษัทอเมริกันเข้าถึงตลาดอินเดียได้มากขึ้น
อินเดียเป็นผู้ซื้ออัลมอนด์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยในปี 2561 อินเดียซื้ออัลมอนด์มากกว่าครึ่งจากสหรัฐฯด้วยมูลค่า 543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 17,006 ล้านบาท) จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ขณะที่เป็นผู้ซื้อแอปเปิลของสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 156 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 4,885 ล้านบาท) ในปีที่แล้ว
กฎระเบียบใหม่ของอินเดียในหลายอุตสาหกรรม เช่น อีคอมเมิร์ซ และการเก็บข้อมูลในประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ และส่งผลกระทบบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทั้งอเมซอน , Walmart , Mastercard และ Visa และอื่นๆ