สาวญี่ปุ่นสร้างกระแส #KuToo สลัดส้นสูง
ประชาชนมากกว่า 19,000 ราย ในญี่ปุ่น ลงชื่อสนับสนุนการแบนกฎเครื่องแต่งกาย(dress code)ในที่ทำงาน ที่บังคับให้ผู้หญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูงระหว่างปฏิบัติงานเท่านั้น
ยูมิ อิชิกาวะ ศิลปิน นักเขียน และเฟมินิสต์ในโตเกียว ได้เปิดแบบคำร้องให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนหลังจากที่เธอทวีตถึงการถูกบังคับให้สวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน และมีผู้ใช้ทวีตเตอร์กดไลค์ให้มากกว่า 67,000 ไลค์ และรีทวีตรวม 30,000 ครั้ง
เธอระบุผ่านโซเชียลมีเดียของเธอว่า “ฉันหวังว่าจะทำลายขนบธรรมเนียมที่บางวันผู้หญิงต้องสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงานได้ค่ะ”
หลายบริษัทในญี่ปุ่นกำหนดให้พนักงานหญิงสวมรองเท้าส้นสูงในสถานที่ทำงานมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว
ทวีตของคุณอิชิกาวะ ติดแฮชแท็กว่า #KuToo ซึ่งเป็นการเล่นคำระหว่างคำศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น 2 คำ ได้แก่ คุตสึ (เสียงสั้น) ที่แปลว่ารองเท้า และคุตสึ ( เสียงยาว) ที่แปลว่าความเจ็บปวด และคล้องกับ #MeToo ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในระดับสากล
#KuToo ได้กลายเป็นแฮชแท็กสำหรับผู้หญิงที่พุดคุยกันถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยพบเจอในชีวิตจริงบนโซเชียลมีเดีย
เจ้าหน้าที่จากแผนกโอกาสทำงานที่เท่าเทียมกัน ในกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ระบุว่า ไม่มีแผนการเปลี่ยนแปลงกฎที่ว่า ผู้ว่าจ้างจะกำหนดเสื้อผ้าหรือรองเท้าของพนักงานหรือไม่ โดยปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายห้ามบริษัทไม่ให้กำหนดเครื่องแต่งกายหรือแบบการสวมใส่เสื้อผ้าของพนักงานในบริษัท
ทางเจ้าหน้าที่ชี้ว่า พนักงานชายก็ต้องปฏิบัติตามกฎเช่นกัน โดยบ่อยครั้งที่พนักงานชายจำเป็นต้องสวมไทและรองเท้าหนัง “หากสามัญสำนึกหรือแนวคิดเกี่ยวกับมารยาททางสังคมมีการเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบต่าง ๆ ก็จะต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน”
การเคลื่อนไหวทางสังคมอย่าง #KuToo ในญี่ปุ่น คล้ายคลึงกับการรณรงค์ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 59 ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 10,000 ราย ที่สนับสนุนเรียกร้องให้แบนการกำหนดการแต่งตัวที่บังคับให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การรณรงค์ #MeToo ได้ผลักดันปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเด็นดัง โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับที่ 110 จากทั้งหมด 149 ประเทศ จากอันดับของสภาเศรษฐกิจโลกที่วัดจากความเท่าเทียมทางเพศ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นรั้งท้ายในกลุ่มประเทศ G7 ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แม้ว่านายกชินโซ อาเบะ สาบานว่าจะเพิ่มอำนาจให้ผู้หญิงทำงาน ผ่านนโยบายที่เรียกว่า “เศรษฐกิจพลังผู้หญิง”