ทรัมป์ชี้รวมหัวเว่ยในดีลการค้าสหรัฐฯ-จีนด้วย
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯเชื่อมโยงกรณีพิพาทที่มีกับบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย ซึ่งเขามองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เข้ากับการเจรจาที่จะยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
“ หัวเว่ยเป็นอะไรที่อันตรายมาก” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว “ ลองดูสิ่งที่พวกเขาทำกับจุดยืนด้านความมั่นคง จุดยืนของกองทัพ อันตรายมากๆ”
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ระบุว่า มี “ความเป็นไปได้มาก” ที่วอชิงตันจะบรรลุข้อตกลงกับทางปักกิ่งเพื่อยุติความขัดแย้งทางการค้าที่ยกระดับขึ้น และ “เป็นไปได้ที่จะรวมหัวเว่ยเข้าไปในข้อตกลงทางการค้าด้วย”
ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับหัวเว่ย โดยสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยเนื่องจากมีความกังวลว่า สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ของหัวเว่ยจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมความลับได้ ขณะที่ปักกิ่งกล่าวหาวอชิงตันว่า “กลั่นแกล้ง” บริษัท
ความเห็นของทรัมป์ขัดแย้งโดยตรงกับแถลงการณ์จากไมค์ ปอมเปโอ รมว.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าว่าหัวเว่ยและประเด็นการค้าไม่มีความเชื่อมโยงกัน
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC รมว.ปอมเปโอเน้นว่ามี 2 องค์ประกอบที่แยกจากกัน คือ “ ส่วนประกอบด้านความมั่นคงของประเทศ” และพยายาม “จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุลเท่าเทียมกันระหว่างทั้งสองประเทศ ”
“ผมหวังว่าเราสามารถคงประเด็นเหล่านั้นไว้ได้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องความมั่นคงของอเมริกัน เราต้องการให้แน่ใจว่าเราได้ข้อตกลงการค้าที่เหมาะสม” รมว.ปอมเปโอกล่าว
ปอมเปโอยังได้ปฏิเสธแถลงการณ์ของหัวเว่ยเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน และระบุว่าข้อมูลใดๆที่ให้บริษัทดูแล “มีความเสี่ยง” ที่จะตกไปอยู่ในมือคนร้าย “ การกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานกับรัฐบาลจีนเป็นแถลงการณ์ที่ผิด” ปอมเปโอกล่าว หัวเว่ย “ไม่เพียงมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับจีน แต่ยังมีกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนด้วย”
จีนเคยวาดความเชื่อมโยงเกี่ยวกับทั้งสองประเด็น โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ “กลั่นแกล้ง” หัวเว่ย
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. หวังอี้เตือนว่าจีนพร้อมที่จะ “สู้จนถึงที่สุด” ในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ “ สหรัฐฯใช้อำนาจรัฐเพื่อออกแรงกดดันบริษัทเอกชนของจีนอย่างหัวเว่ยโดยพลการเป็นตัวอย่างการกลั่นแกล้งทางเศรษฐกิจ”
เมื่อสัปดาห์ก่อน ทรัมป์ประกาศความฉุกเฉินแห่งชาติด้วยการห้ามบริษัทอเมริกันใช้อุปกรณ์จากบริษัทสื่อสารต่างประเทศเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ตั้งเป้าที่หัวเว่ย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯยังได้ประกาศแบนบริษัทสหรัฐฯไม่ให้ขาย หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หัวเว่ย แม้ว่าในเวลาต่อมา จะมีการประกาศเลื่อนกำหนดออกไปอีก 90 วันก็ตาม นอกจากนี้ บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลยังได้ตัดขาดไม่ให้หัวเว่ยใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลบนสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยอีกด้วย
ทั้งนี้ หัวเว่ยชี้ว่า จะออกระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของตัวเองได้ในปีนี้ในจีนและระดับระหว่างประเทศในปีหน้า.