ศก.ญี่ปุ่น Q1 โต แม้ใช้จ่ายน้อยลง
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเกินคาดในไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค. โดยได้แรงหนุนจากการส่งออก และท้าทายการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกจะหดตัวลง
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่สร้างความประหลาดใจเกินคาดมีสาเหตุจากตัวเลขการนำเข้าที่ลดลงเร็วกว่าการส่งออก แต่มีแนวโน้มสะท้อนดีมานด์ในประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลกังวล เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะขึ้นภาษีขายตามกำหนดเดิมในเดือนต.ค.หลังจากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะประกาศเลื่อนมาถึง 2 ครั้ง
โดยตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนและเงินใช้จ่ายในการลงทุน ลดลงทั้งคูในไตรมาสแรก ขณะที่การส่งออกลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558
เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตในอัตรา 2.1% ต่อปีในไตรมาสแรก จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. เติบโตขึ้นมาจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสเดือนต.ค – ธ.ค.
“ ปัจจัยส่วนใหญ่ของ GDP เป็นลบทั้งหมด ” ฮิโรอากิ มุโตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยโตเกียวโทไคระบุ “ เศรษฐกิจเลยจุดพีคไปแล้ว เราจึงมีแนวโน้มจะถดถอย ”
การขยายตัวของ GDP เกิดจากการนำเข้าที่ลดลง 4.6% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ และการส่งออกก็ลดลงมากกว่า 2.4%
แต่เนื่องจากตัวเลขนำเข้าลดลงมากกว่าตัวเลขส่งออก ( การจัดส่งลบด้วยการนำเข้า) จึงช่วยเพิ่มให้กับการเติบโตของ GDP ถึง 0.4% อ้างอิงจากข้อมูล
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.1% และรายจ่ายการลงทุนลดลง 0.3% ก่อให้เกิดความข้องใจกับรัฐบาลว่าดีมานด์ในประเทศจะชดเชยกับความเสียหายจากการส่งออกที่ชะลอตัวได้หรือไม่
มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นจากอดีตรัฐบาลให้เลื่อนการปรับขึ้นภาษีขายออกไป เนื่องจากดีมานด์ในประเทศอ่อนแอ และปัจจัยสภาพภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พ.ค. โทชิมิตสึ โมเตหงิ รมว.กระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแผนที่จะปรับขึ้นภาษีขายเป็น 10% จากเดิม 8% ในเดือนต.ค.ปีนี้
“ เรายังไม่เปลี่ยนความเห็นว่าดีมานด์ในประเทศที่สนับสนุนเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ” รมว.โมเตหงิกล่าวกับสื่อหลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูล
แต่นักวิเคราะห์หลายรายเตือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเจอกับแรงต้านที่อาจบั่นทอนการเติบโตในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า
“ การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอ่อนแรง เพราะค่าจ้างไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก ” เคนทาโร อาริตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่สถาบันวิจัยมิซูโฮระบุ “ ในไตรมาส 2 ตัวเลข GDP อาจเป็น 0 หรือติดลบเล็กน้อย เพราะส่งออกยังคงแย่ รวมกับรายจ่ายฝ่ายทุน หมายความว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย”
ข้อมูล GDP มีขึ้นในเวลาที่สัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจถดถอยจากการส่งออกและผลผลิตโรงงานได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯที่ยังดำเนินอยู่.