ราคาน้ำมันแพงกระทบเอมิเรตส์
ตัวเลขกำไรของสายการบินเอมิเรตส์ดิ่งฮวบลงแตะระดับต่ำที่สุดในรอบทศวรรษเนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น
สายการบินที่มีฐานประจำนครดูไบใช้จ่ายเงินถึง 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 268,296 ล้านบาท ) ในปีที่แล้วจนถึงสิ้นเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือเป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสายการบินเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็น 32% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสายการบินเอมิเรตส์ ทำให้ผลกำไรของปีนี้ดิ่งร่วงลงถึง 69% ลงมาอยู่ที่ 237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 7,570 ล้านบาท) จากแถลงการณ์ของสายการบินเอมิเรตส์
“ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าส่งผลกระทบกับรายได้ของเรา รวมถึงการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นในตลาดสำคัญของเรา” ชีค อาห์เหม็ด บิน ซาอีด อัลมัคตูม ทรงตรัส
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 22% ในปีงบประมาณ หลังจากปรับขึ้น 15% ในปีก่อนหน้า เอมิเรตส์ระบุ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของราคาน้ำมันทั่วโลก ปิดการซื้อขายอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ขณะที่ราคาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้าอยู่ที่ 61.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นในปี 2562 เป็นผลมาจากการลดเพดานการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันโอเปก และรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯที่คว่ำบาตรสองประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่คืออิหร่านและเวเนซุเอลา
จำนวนผู้โดยสารของเอมิเรตส์ยังคงมีเสถียรภาพอยู่ที่ 58.6 ล้านราย ขณะที่ปัจจัยที่นั่งของผู้โดยสาร ซึ่งเป็นมาตรวัดความสำเร็จของเครื่องบินในสายการบิน ลดลงเหลือ 76.8% จากเดิม 77.5% โดยสายการบินกล่าวโทษเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ชะลอตัว และ “ การแข่งขันอย่างดุเดือดในหลายตลาด”
เอมิเรตส์เป็น 1 ใน 2 สายการบินแห่งชาติของสหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ โดยสายการบินเอทิฮัด ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงอาบูดาบี รายงานผลประกอบการที่ขาดทุนถึง 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีล่าสุด และนักวิเคราะห์พากันตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ว่าประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังต้องมีสายการบินแห่งชาติถึงสองสายหรือไม่
ชีคอาห์เหม็ดทรงปฏิเสธความเป็นไปได้ในการประเมินการควบรวมกิจการของสองสายการบินในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNN ในสัปดาห์ก่อน
“ ไม่มีอะไรต้องควบรวม” ชีคทรงระบุ “ มีความสัมพันธ์ระหว่างสองสายการบิน แต่ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่า การควบรวมกิจการเลย”