พายุไซโคลนฟานิถล่มอินเดีย
พายุไซโคลนฟานิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดีย โถมเข้ากระหน่ำอินเดียเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ทำให้ต้นไม้หักโค่น แผงขายอาหารปลิวว่อน และทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
สภาพอากาศที่เลวร้าย ส่งผลให้เกิดพายุอันตรายที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำและพายุโถมพัดด้วยความเร็วลมถึง 180 ก.ม.ต่อชั่วโมงมุ่งหน้าไปทางฝั่งตะวันออก
นักพยากรณ์อากาศระบุว่า พายุอาจมีความรุนแรงของลมได้ถึง 200 ก.ม.ต่อชั่วโมง เทียบเท่ากับความรุนแรงของพายุในระดับ 3 – 4
ทางการมีคำสั่งอพยพกับประชาชนหลายแสนคนที่อาศัยในรัฐเบงกาลีตะวันตก ขณะที่เจ้าหน้าที่พิเศษออกค้นหาไปตามหมู่บ้านเพื่อเคลื่อนย้ายนักท่องที่ยวให้ไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย
หน่วยบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (NDRF) ของอินเดียแชร์ภาพต้นไม้ที่หักโค่นตามแนวชายฝั่งในรัฐอานธรประเทศไปทางใต้ โดยเจ้าหน้าที่ NDRF ได้เข้าเคลื่อนย้ายซาก ต้นไม้แล้ว
คาดการณ์ว่าพายุไซโคลนฟานิจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่พื้นที่รัฐเบงกาลีตะวันตกและมุ่งไปบังคลาเทศ ซึ่งจะพัดผ่านบ้านเรือนประชาชนกว่า 100 ล้านคน
กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนถึง “ความเสียหายร้ายแรง” ที่อาจพัดหลังคาปลิวกระเจิง เสาไฟฟ้าและเสาสื่อสารโทรคมนาคมหักโค่น น้ำท่วมและทำลายพืชผลทางการเกษตร
มีการจัดตั้งที่พักพิงฉุกเฉินในโรงเรียนและสถานที่ราชการกว่า 3,000 แห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนกว่าล้านคนในรัฐโอริสสา
มีการประกาศยกเลิกการเดินรถไฟกว่า 200 เที่ยวตามเส้นทางชายฝั่ง มีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกจากเมืองภุพเนศวร เมืองหลวงของรัฐโอริสสา และกัลกัตตาในเบงกาลีตะวันตกจนถึงวันที่ 4 พ.ค.
คาดการณ์ว่าพายุจะเคลื่อนผ่านเมืองปูรี เมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทุกปี โดยผู้สื่อข่าวจาก AFP รายงานว่าต้นไม้จำนวนมากโค่นล้มระเนระนาดใกล้กับเมือง และมีน้ำท่วมก่อนที่พายุฟานีจะมาถึง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ในเมืองที่มีประชากรประมาณ 2 แสนคน
ขณะที่ในบังคลาเทศ มีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือพายุด้วยการจัดที่พักพิงชั่วคราวเพื่อหลบภัยพายุกว่า 4,000 แห่งใน 19 เขตเมืองชายฝั่ง
ทั้งนี้ เมืองชายฝั่งตะวันออกของอินเดียประสบภัยจากพายุรุนแรงมาหลายครั้ง
โดยในปี 2560 พายุไซโคลน Ockhi คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 250 รายและมีผู้สูญหายเกือบ 600 รายในรัฐทมิฬนาฑู และรัฐเกรละ
ย้อนไปในปี 2542 พายุสร้างความเสียหายกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน