เศรษฐกิจสหรัฐฯ Q1 โต 3.2 %
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตรุดหน้าในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยการเติบโตถูกขับเคลื่อนด้วยตัวเลขขาดดุลการค้าและจำนวนสินค้าค้างสต็อกที่ลดลงตั้งแต่ปี 2558 ช่วยหนุนเศรษฐกิจในปีนี้
ตัวเลขการเติบโตที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ช่วยผ่อนคลายความกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหยุดชะงัก แต่ชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ดูจะเกินจริงไป เนื่องจากผู้บริโภคและธุรกิจมีการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และการลงทุนในการก่อสร้างบ้านหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโต 3.2% ต่อปีในไตรมาสแรก รัฐบาลระบุในรายงาน GDP ล่วงหน้า การเติบโตยังได้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในการสร้างถนนโดยรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลรัฐ
เศรษฐกิจเติบโต 2.2% ในไตรมาสเดือนต.ค. – ธ.ค.ปีที่แล้ว ทำให้โพลนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 2.0% ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวครอบรอบ 10 ปีในเดือนก.ค. นับเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เชียร์ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรก “ นี่เหนือการคาดการณ์ หรือที่ตั้งเป้าไว้ ” ผู้นำสหรัฐฯทวีตบนทวิตเตอร์
ทำเนียบขาวกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจจากหลายนโยบาย รวมทั้งการลดภาษีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนธ.ค.2560 โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการกระตุ้นงบประมาณ รวมทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาล พีคสุดในไตรมาส 3 ของปี 2561 แต่พวกเขาคาดการณ์ว่า GDP จะชะลอตัวลงในปีนี้ โดยการเติบโตจะอยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่าการคาดการณ์ของรัฐบาลทรัมป์คือ 3% โดยเศรษฐกิจพลาดเป้าการเติบโตในปี 2561
การส่งออกเพิ่มและการนำเข้าลดลงในไตรมาสแรก ทำให้มีการขาดดุลน้อยลง ช่วยเพิ่มการเติบโตให้ GDP 1.03% หลังจากไม่เพิ่มเลยในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าเหวี่ยงไปมาอย่างแรง โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าพยายามอยู่เหนือการต่อสู้ทางภาษีระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจ
การเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.2% จาก 2.5% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว การใช้จ่ายสะท้อนการซื้อรถยนต์และสินค้าอื่นๆที่ลดลง โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการชัทดาวน์รัฐบาลกลางเป็นเวลา 35 วัน นอกจากนี้ ยังมีการชะลอตัวในการใช้จ่ายภาคบริการด้วย
รัฐบาลชี้แจงว่า การชัทดาวน์ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลง 3 ใน 10 ส่วนจาก GDP ของปีที่แล้ว แต่การค้าปลีกฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งหลังยุติชัทดาวน์ ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการบริโภคจะดีขึ้นในไตรมาส 2
การสร้างที่อยู่อาศัยลดลง 2.8% ทำให้เป็นการลดดิ่งลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลฟื้นตัวขึ้นในอัตรา 2.4% ได้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลของรัฐ ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางนั้นคงที่ ไม่มีการเติบโต.