ระเบิดศรีลังกาเป็นการแก้แค้นจากเหตุกราดยิงนิวซีแลนด์
เหตุระเบิดวันอีสเตอร์ที่โบสถ์หลายแห่งในศรีลังกาเป็นการตอบโต้จากเหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ ทางการศรีลังการะบุเมื่อวันที่ 23 เม.ย.โดยเสริมว่า เชื่อว่าสองกลุ่มติดอาวุธอิสลามในประเทศอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในครั้งนี้
ไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดครั้งนี้ ซึ่งทางการศรีลังการะบุว่าเป็นระเบิดฆ่าตัวตายอย่างน้อย 7 ราย ที่เกิดกับ 3 โบสถ์และ 4 โรงแรม โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 321 รายและบาดเจ็บ 500 ราย
“ การสอบสวนเบื้องต้นเปิดเผยว่า นี่เป็นการตอบโต้เหตุโจมตีมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ ” Ruwan Wijewardene รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวในสภา
เขาไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทำไมทางการจึงเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเหตุกราดยิงผู้คน 50 รายในมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชในช่วงที่มีการละหมาดในวันที่ 15 มี.ค. โดยมือปืนที่ก่อเหตุร้ายในครั้งนั้นมีคนเดียว
Wijewardene ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธอิสลามในประเทศทั้งสองกลุ่มคือ National Thawheed Jama’ut และ Jammiyathul Millathu Ibrahim มีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ในระหว่างพิธีวันอีสเตอร์ และในระหว่างมื้ออาหารเช้าในโรงแรมหรู
สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯระบุว่า การโจมตีเป็นลักษณะของกลุ่มก่อการร้ายอิสลาม แต่ยังคงเป็นข้อสงสัยเพราะไม่มีกลุ่มใดอ้างความรับผิดชอบ ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธอิสลามมักจะอ้างความรับผิดชอบอย่างรวดเร็ว หรือตั้งเป้าโจมตีชาวต่างชาติ หรือกลุ่มต่างศาสนา
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห กล่าวในสภาว่า การสอบสวนเจาะลึกเพื่อหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับต่างชาติ โดยรัฐบาลศรีลังกาและแหล่งข่าวของกองทัพระบุว่า มีชาวซีเรียคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว 40 รายเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับเหตุระเบิด
มีการประกาศให้วันที่ 23 เม.ย.เป็นวันไว้อาลัยและรำลึกถึงผู้เสียชีวิต และมีพิธีฝังศพเหยื่อผู้เสียชีวิตหลายราย มีแรงกดดันมากขึ้นว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่ในการขาน
รับกับคำเตือนจากอินเดียในเดือนนี้ว่า อาจมีการโจมตีโบสถ์หลายแห่งจากกลุ่มติดอาวุธ National Thawheed Jama’ut
เหตุระเบิด 6 ครั้งแรก เกิดขึ้นในโบสถ์ 3 แห่งและโรงแรมหรู 3 แห่ง ในช่วงเช้าของวันที่ 21 เม.ย. และเหตุระเบิดอีก 2 ครั้ง เกิดขึ้นต่อมาในช่วงบ่ายที่โรงแรมอีกแห่งและบ้านอีกหลังในเมืองหลวงคือกรุงโคลัมโบ
โดยผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชาวศรีลังกา แต่ทางการระบุว่ามีชาวต่างชาติเสียชีวิต ทั้งหมด 38 ราย มีทั้งชาวอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ตุรกี อินเดีย จีน เดนมาร์ก ดัตช์ และโปรตุเกส ขณะที่กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิเซฟรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 45 ราย
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในคำแนะนำการเดินทางของพลเมืองอเมริกันว่า กลุ่มก่อการร้ายอาจมีแผนโจมตีศรีลังกาอีก
สถานทูตจีนเตือนพลเมืองจีนที่จะเดินทางมาศรีลังกาในเวลาอันใกล้ เพราะ “ มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอย่างมาก” โดยจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในศรีลังกา ทั้งนี้ สถานทูตจีนรายงานว่า มีพลเมืองชาวจีนเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บ 5 ราย และสูญหายอีก 5 ราย.