อียูจ่อขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ 2 หมื่นล้านดอลลาร์
เฮลิคอปเตอร์ กระเป๋าถือ และเฮเซลนัทอยู่ในรายชื่อสินค้าของสหรัฐฯที่จะถูกสหภาพยุโรปขึ้นภาษี ซึ่งเป็นมาตรการตอบโต้จากอียูที่สหรัฐฯให้เงินอุดหนุนบริษัทโบอิ้ง
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. คณะกรรมาธิการยุโรปขู่จะขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 639,000 ล้านบาท ) หลังจากในเดือนมี.ค.องค์การการค้าโลก (WTO) ตัดสินว่า สหรัฐไม่ยอมหยุดให้เงินอุดหนุนบริษัทโบอิ้งซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในสถานการณ์ตรงข้ามกัน ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้ออกมาขู่ว่าจะขึ้นภาษีมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 351,450 ล้านบาท ) กับสินค้านำเข้าจากอียู ชดเชยมูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการที่อียูให้เงินอุดหนุนกับบริษัทแอร์บัส
ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันที่จะเปิดการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน
รายชื่อสินค้าของสหรัฐฯที่อยู่ในเอกสารความยาว 11 หน้าของอียูที่จะถูกจัดเก็บภาษีมีตั้งแต่เครื่องบินไปจนถึงเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อาหาร
“ บริษัทของยุโรปต้องสามารถแข่งขันในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเท่าเทียม คำตัดสินของ WTO เมื่อเร็วๆนี้เรื่องเงินอุดหนุนที่สหรัฐฯให้กับบริษัทโบอิ้งเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องนี้ เราต้องปกป้องเพื่ออุตสาหกรรมของเราต่อไป ” Cecilia Malmstrom ประธานกรรมาธิการการค้าอียูระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย.
“ แต่ขอดิฉันพูดให้ชัดคือ เราไม่อยากโต้ตอบกันไปมา ขณะที่เราจำเป็นต้องพร้อมด้วยมาตรการรับมือในกรณีที่ไม่มีทางออกอื่น ดิฉันยังเชื่อว่า การเจรจาคือสิ่งที่ดีที่สุดระหว่างคู่ค้าสำคัญอย่างอียูและสหรัฐฯ เพื่อนำมาซึ่งการยุติข้อพิพาทที่มีมานาน ” Malmstrom กล่าว
ทั้งนี้ สหรัฐฯและอียูต่อสู้กันมานานเกือบ 15 ปีในกรณีพิพาทที่ยื่นคำร้องต่อ WTO เรื่องเงินอุดหนุนที่ให้กับโบอิ้งและแอร์บัส
หลังจากมีชัยชนะทั้งสองฝ่าย ทั้งสหรัฐฯและอียูต่างขอให้อนุญาโตตุลาการของ WTO ชี้ชัดถึงมาตรการโต้ตอบที่สามารถมีได้กับอีกฝ่าย อนุญาโตตุลาการไม่ได้ระบุจำนวน แต่กรณีของสหรัฐฯ ที่ยื่นคำร้องเรื่องแอร์บัสมีความก้าวหน้ามากกว่าและคาดการณ์ว่าจะมีคำตัดสินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“ อียูเอาเปรียบสหรัฐฯด้านการค้ามานานหลายปีแล้ว จะต้องหยุดเร็วๆนี้ ” ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุผ่านทวิตเตอร์สัปดาห์ก่อน
การเจรจาการค้าระหว่างอียูกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะมีการเจรจาเป็น 2 ชุด หนึ่งคือปรับลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมและอีกชุดคือทำให้ง่ายขึ้นสำหรับธุรกิจที่จะแสดงว่าสินค้าผ่านมาตรฐานของอียู หรือสหรัฐฯ โดยอียูยืนกรานว่าไม่อยากให้รวมเกษตรกรรมเข้ามาด้วย สองคล้องกับสหรัฐฯที่ต้องการให้ผลิตภัณ์การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาในอนาคต
ทรัมป์เขย่าอียูในปีที่แล้วด้วยการตัดสินใจขึ้นภาษีกับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากอียู ทำให้อียูตอบโต้ทันที ด้วยการขึ้นภาษีกับผ้าเดนิม เนยถั่ว และสินค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ
อียูยื่นเรื่องนี้ต่อ WTO เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการขึ้นภาษีกับสินค้าอื่นๆของอียู และ 2 – 3 เดือนต่อมา Jean Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเดินทางไปกรุงวอชิงตัน โดยเขาตกลงกับทรัมป์ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้ภาษีเป็น 0 กับสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ยานยนต์ , มีการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐฯ และหาทางทำให้มาตรฐานของทั้งสองฝ่ายใกล้เคียงกันมากขึ้น
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 28 ประเทศสมาชิกอียูมีการกำหนดท่าทีร่วมกันที่จะเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยอียูต้องการให้ข้อตกลง “มุ่งเน้นอย่างเคร่งครัดที่สินค้าอุตสาหกรรม” โดยไม่รวมถึงผลิต
ภัณฑ์การเกษตร ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ชอบ