กลุ่มประท้วงขู่ขวางรถไฟใต้ดินลอนดอน
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมขู่จะขัดขวางบริการรถไฟใต้ดินของกรุงลอนดอน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลอังกฤษมีมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กลุ่ม Extinction Rebellions (XR) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมยกระดับการชุมนุมประท้วงในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ โดยปิดกั้นเส้นทางที่ Marble Arch ,Oxford circus และ สะพาน Waterloo มีการพังประตูอาคารบริษัทเชลล์ และประท้วงหน้ารัฐสภาในสภาพกึ่งเปลือย
เมื่อวันที่ 15 – 16 เม.ย.มีผู้ถูกจับกุมตัวถึง 290 ราย หลังจากบรรดานักเคลื่อนไหวปิดกั้นสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอน และหลายคนกางเต็นท์บนถนนหลายสาย
กลุ่มผู้สนับสนุนการประท้วงแสดงการขัดขืนแบบมีอารยะ โดยไม่มีความรุนแรงเพื่อบีบให้รัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศซึ่งจะนำมาซึ่งความอดอยาก น้ำท่วม ไฟป่า และการล่มสลายทางสังคม
“ XR จะขัดขวางบริการรถไฟใต้ดินโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนฉุกเฉินของการล่มสลายของระบบนิเวศ ” ทางกลุ่มระบุบนเว็บไซต์ “ เหมือนการสไตรค์ของแรงงาน การขัดขวางทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญในการบีบให้รัฐบาลสนใจและเจรจาตามข้อเรียกร้องของเรา ”
ยังไม่ชัดเจนว่าทางกลุ่มจะขัดขวางโครงข่ายรถไฟใต้ดินได้อย่างไร โดยรถไฟใต้ดินซึ่งมักเรียกกันว่า Tube ให้บริการผู้โดยสารได้มากถึง 5 ล้านคนต่อวัน
ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนแนะนำผู้ประท้วงให้หลีกเลี่ยงการขัดขวางระบบขนส่งสาธารณะของเมือง “ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมทั้งการเดิน ปั่นจักรยาน หากเราจะแก้ปัญหาความเร่งด่วนฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ”
ตำรวจระบุว่า คาดการณ์ว่าการประท้วงจะดำเนินต่อไปอีก 2 – 3 สัปดาห์ และสัญญาว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่หากจำเป็น
ทางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศความฉุกเฉินเรื่องสภาพอากาศและระบบนิเวศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 68 และสร้างการรวมกลุ่มของพลเมืองในการตัดสินใจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ทางกลุ่มระบุว่า โลกอยู่ท่ามกลางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และเผชิญกับเรื่องฉุกเฉินที่จะกำหนดชะตาของมนุษยชาติ ทางกลุ่มระบุว่าการแก้ปัญหาล้มเหลวเพราะการเมืองที่ทรงอิทธิพลและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหยุดการเปลี่ยนแปลง
ในปี 60 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหราชอาณาจักรลดลง 43% จากปี 33 และลดลง 2.6% จากปี 59 อ้างอิงจากสถิติของรัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น ทั้งน้ำท่วม ความแห้งแล้ง คลื่นความร้อน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น