MIT ตัดสัมพันธ์หัวเว่ย / ZTE
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.สถาบันเทคโนโลยีแมตซาชูเซตส์ หรือ MIT ในสหรัฐฯ ระบุว่า ทางสถาบันได้ตัดขาดความสัมพันธ์กับบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี และ ZTE Corp เนื่องจากทางการสหรัฐฯ สืบสวนพบว่าบริษัทจีนละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
โดย MIT เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯที่ประกาศเลิกใช้ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ผลิตจากบริษัทหัวเว่ยและบริษัทจีนอื่นๆเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกระงับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
“ MIT ไม่ยอมรับข้อผูกพันใหม่ หรือการรื้อฟื้นสิ่งที่มีอยู่ที่เกี่ยวข้องกับหัวเว่ยและ ZTE หรือเงินอุดหนุนจากพวกเขา เนื่องจากการสืบสวนของรัฐบาลกลางระบุว่าบริษัทมีพฤติกรรมละเมิดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ” มาเรีย ซูเบอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยระบุในจดหมายที่โพสต์บนเว็บไซต์
โดยในส่วนความร่วมมือกับจีน รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย จะต้องมีการทบทวนกระบวนการเพิ่มเติมด้านการบริหารเช่นกัน ซูเบอร์เสริม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดแห่งอังกฤษก็ประกาศงดรับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทหัวเว่ยในปีนี้
“ เราผิดหวังกับการตัดสินใจของ MIT แต่เราเข้าใจถึงความกดดันที่พวกเขาประสบอยู่ในช่วงเวลานี้” หัวเว่ยระบุเมื่อวันที่ 4 เม.ย. โดยเสริมว่า บริษัทปฏิเสธคำกล่าวหาจากรัฐบาลสหรัฐฯ
“ เราเชื่อในระบบยุติธรรมของสหรัฐฯว่าจะบรรลุถึงบทสรุปที่ถูกต้อง” หัวเว่ยระบุ
โดยในขณะนี้ ทาง ZTE ยังไม่ขอตอบคำถามจากทางสื่อรอยเตอ์
เมิ่งว่านโจว ซึ่งเป็นประธานบริหารฝ่ายการเงินของหัวเว่ยและบุตรสาวของเหรินเจิ้งเฟย – ผู้ก่อตั้งบริษัท ถูกจับกุมตัวในแคนาดาในเดือนธ.ค.61 ตามคำร้องขอจากสหรัฐฯ ในข้อหาที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางธนาคารที่เป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจากสหรัฐฯ โดยเธอปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด
การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯบีบให้ ZTE ต้องหยุดดำเนินธุรกิจในช่วงเดือนเม.ย. – ก.ค.ในปี 61 หลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า บริษัทมีการจัดส่งสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปที่อิหร่านและเกาหลีเหนืออย่างผิดกฎหมาย โดยสหรัฐยกเลิกคว่ำบาตร ZTE หลังจากบริษัทยอมจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในจีน กระทรวงต่างประเทศตอบคำถามเกี่ยวกับบริษัททั้งสอง แต่ระบุว่าบริษัทจีนต้องยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายในแต่ละประเทศ
“ ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ถามเช่นนั้นกับรัฐบาลในหลายประเทศว่า พวกเขาได้มีการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยุติธรรม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 เม.ย.
ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีนอย่างหัวเว่ยยังเผชิญกับการตรวจสอบพิจารณาที่เข้มงวด ซึ่งนำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุถึงความกังวลว่าจีนจะสามารถใช้อุปกรณ์ของบริษัทในการสอดแนมความลับไปให้รัฐบาลจีนได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุว่ายังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันถึงความกังวลนี้.