คนแก่ญี่ปุ่นกว่า 6 แสนโดดเดี่ยวจากสังคม
ชาวญี่ปุ่น 6 แสนกว่าคนที่มีอายุเกิน 40 ปีใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตัดขาดจากสังคมโดยสิ้นเชิง โดยพวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านนานกว่า 6 เดือนโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก จากผลการประเมินของรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.
ปรากฎการณ์ที่แพร่กระจายในญี่ปุ่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ฮิคิโคโมริ’ เป็นคำอธิบายถึงคนที่ไม่ไปโรงรียน หรือไม่ไปทำงานนานเกิน 6 เดือน และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกครอบครัวเลยในช่วงเวลาเหล่านั้น
ผลสำรวจของภาครัฐที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ประเมินว่า มีคนที่จัดว่าเป็นกลุ่มฮิคิโคโมริประมาณ 613,000 คนที่มีอายุระหว่าง 40 – 64 ปี โดย 3 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้เป็นชาย
“ จำนวนนี้มากกว่าที่เราเคยประเมินไว้ ฮิคิโคโมริไม่ใช่คนอายุน้อยอีกต่อไป” เจ้าหน้าที่ประจำสำนักคณะรัฐมนตรีที่จัดทำผลสำรวจกล่าวกับสื่อ AFP
ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน มีความคิดที่ว่าประเด็นปัญหานี้ส่งผลกระทบกับวัยรุ่นและผู้คนในวัย 20 ปีเท่านั้น แต่สังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทำให้มีประชากรในวัยกลางคนกลายเป็นกลุ่มฮิคิโคโมริได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผลสำรวจของภาครัฐระบุว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ในผลสำรวจเป็นคนสันโดษเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านมานานกว่า 7 ปี
ตัวเลขฮิคิโคโมริที่มีอายุต่ำกว่า 39 ปีสูงกว่าที่ประเมินไว้คือประมาณ 541,000 คน อ้างอิงจากผลสำรวจของรัฐบาลในหัวข้อเดียวกันในปี 59
มีการคาดการณ์กันว่าว่า กลุ่มคนที่เป็นฮิคิโคโมริจำนวนมากต้องพึ่งพาบิดามารดาที่มีอายุมากในทางการเงิน
น.ส.ริกะ อุเอดะ ซึ่งทำงานให้กลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนผู้ปกครองของเด็กกลุ่มฮิคิโคโมริระบุว่า เธอไม่แปลกใจกับผลสำรวจนี้
“ ข้อมูลของภาครัฐสนับสนุนการสำรวจของเราเองที่ชี้ว่า มีคนอายุมากที่เป็นฮิคิโคโมริด้วย” .อุเอดะกล่าวกับสื่อ AFP
“ แต่เราไม่ได้ตระหนักว่ามีฮิคิโคโมริที่อยู่ในวัย 60 ปีด้วย” เธอกล่าว “ แสดงว่าสังคมญี่ปุ่นใช้ชีวิตอยู่ยาก พวกฮิคิโคโมริชอบอยู่บ้านมากกว่าพบปะผู้คน”
โดยเธอระบุว่า ความกดดันสูง การอยู่ในกรอบ และการทำงานหนักในสถานที่ทำงานในญี่ปุ่น ส่งผลทำให้ชาวญี่ปุ่นแต่ละคนมีความกดดันสูง
“ ฉันคิดว่าผลสำรวจชี้ว่า เราต้องถามตัวเองว่า ชีวิตที่มีความสุขของเราแต่ละคนคืออะไร” เธอกล่าว.