ประท้วงเบร็กซิทในลอนดอน
ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนเดินขบวนในใจกลางกรุงลอนดอนเพื่อต่อต้านเบร็กซิทและเรียกร้องขอให้มีการทำประชามติอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยมีการเดินขบวนมุ่งเข้าไปในจตุรัสรัฐสภาเวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นตามแผน
โดยกลุ่มผู้ประท้วงเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อรวมตัวกันในกรุงลอนดอน อย่างเช่น ผู้ประท้วงที่ชื่อรีเบกกา โคลินและลูกชายทั้งสองคนที่เดินทางมาจากน็อตติงแฮม “ ให้สิทธิประชาชนอีกครั้ง” รีเบกการะบุ เธอสนับสนุนให้มีการทำประชามติเรื่องเบร็กซิทอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้เป็นโหวตของประชาชนอย่างแท้จริง
“ เราอยากให้แน่ใจว่าลูกๆของเราจะมีโอกาสเหมือนที่เราเคยมี” โคลินกล่าว
ขณะที่ผู้ประท้วงอีกคนชื่อโรเจอร์ จากกรุงลอนดอน กล่าวกับสำนักข่าว CNN ว่า เขารู้สึกกังวลกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของเบร็กซิท
“ เห็นชัดว่าเบร็กซิทแย่สำหรับเศรษฐกิจ มันแย่สำหรับอนาคตของลูกผม” เขากล่าว
โดยถนนพาร์กเลนเต็มไปด้วยกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากที่เดินขบวนเข้าไปที่จตุรัสรัฐสภากันอย่างล้นหลาม และมีกำหนดจะยุติการชุมนุมประท้วงในเวลา 17.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น
การคมนาคมลอนดอน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการบริการขนส่งสาธาณะในเกรทเทอร์ลอนดอน ทวีตภาพการชุมนุมของผู้ประท้วงบนถนนพาร์กเลนในเวลา 12.01 น.
ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรมีเวลา 3 ปีที่จะตกลงกันในเงื่อนไขรายละเอียดของเบร็กซิท แต่กฎระเบียบที่ผันผวน อาจทำให้กำหนดเส้นตายมืดมนลงในสามสัปดาห์
ผลของเบร็กซิทอาจยังไม่มีการตัดสินใจ แต่ก็ได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรแล้ว
โดยการโหวตออกจากอียูตั้งแต่เดือนมิ.ย.59 ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างแรงและ ความผันผวนนานหลายปีทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และฉุดให้การลงทุนดิ่งลง
เศรษฐกิจตอนนี้ลดลงกว่าเดิม 2% หากเทียบกับการตัดสินใจที่จะอยู่ต่อในอียู อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลางอังกฤษ ผลผลิตทางเศรษฐกิจหายไปตั้งแต่ลงประชามติประมาณ 800 ล้านปอนด์ หรือราว 33,712 ล้านบาทต่อสัปดาห์
และด้วยความระส่ำระสายทางการเมือง ยังคงมีความเสี่ยงที่ประเทศจะออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลงในการเปลี่ยนผ่านเพื่อปกป้องการค้า หรือที่เรียกว่าเบร็กซิทแบบโน-ดีล
ทั้งนี้ ธนาคารกลางกลางอังกฤษประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันจะย่ำแย่กว่าช่วงเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 51.