นักเรียนทั่วโลกโดดเรียนประท้วงโลกร้อน
วันที่ 15 มี.ค.เป็นวันที่นักเรียนกว่า 100 ประเทศทั่วโลกโดดเรียนเพื่อมาประท้วงให้รัฐบาลของประเทศตัวเองตระหนักถึงการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง พวกเขาต่างบอกว่ารัฐบาลไม่สร้างอนาคตที่ดีให้พวกเขา ไม่สนใจการลดมลพิษและไม่พยายามแก้ปัญหาโลกร้อน
ในอินเดีย มีการชุมนุมประท้วงของนักเรียนกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเด็กนักเรียนกว่า 150 คนมารวมกันในเซ็นทรัลปาร์ก ย่าน Connaught Place ซึ่งเป็นฮับการเงิน การค้าและธุรกิจในกระงนิวเดลีของอินเดีย
มีรายงานว่า นักเรียนกว่า 20,000 คนเดินขบวนไปตามถนนในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลียเพื่อประท้วงที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยกลุ่มเด็กนักเรียนเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ทำให้ผู้คนตามท้องถนนพากันเข้าร่วมขบวนด้วย และตะโกนก้องถึงสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องกับรัฐบาล
ขณะที่ศาลากลางนครซิดนีย์ในออสเตรเลียเต็มไปด้วยนักเรียน นักศึกษา บางคนอยู่ในวัยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งได้แล้ว โดยกลุ่มเด็กๆมารวมตัวกันตั้งแต่เช้า นับเป็นหนึ่งแห่งจากกว่า 50 จุดที่มีนักเรียนโดดเรียนมารวมตัวกันประท้วงมากที่สุด
ในจำนวนนี้ มี Patrick Rudd วัย 15 ปีจากนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งโดดเรียนประท้วงเดือนละครั้งและเขาเริ่มมาตามสัญญาณที่ชัดเจน “ ผมมาร่วมในการโดดเรียนประท้วงเรื่องโลกร้อน ตั้งแต่ผมได้ยินข่าวของเกรตา ทูนแบร์ที่โดดเรียนมานั่งอยู่หน้าสภาในประเทศของเธอ” เขากล่าว
ทั้งนี้ เกรตา ทูนแบร์ เป็นนักเรียนในสวีเดน เธอเริ่มไม่เข้าเรียนและมาประท้วงอยู่หน้าสภาในกรุงสต็อกโฮล์มตั้งแต่ปีที่แล้ว แรกๆมีแต่เธอคนเดียวเท่านั้นที่ประท้วงเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เมื่อมีข่าวของเธอแพร่สะพัด ก็กลายเป็นกระแสที่จุดติด ส่งผลทำให้มีเด็กๆอีกมากมายมองเธอเป็นไอดอล และพยายามเข้าร่วมสนับสนุนเธอ มีรายงานล่าสุดว่า เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีนี้ด้วย
ในนิวซีแลนด์ ในหลายเมืองรวมทั้งโอ๊กแลนด์ เด็กนักเรียนต่างพากันโดดเรียนมาร่วมประท้วงกันอย่างหนาแน่น
ขณะที่ในฮ่องกง ก็มีภาพการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักเรียนแพร่กระจายในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว บางคนถ่ายเซลฟี่บนรถไฟฟ้าพร้อมแคปชั่นว่าเตรียมตัวไปร่วมประท้วงกับเด็กๆด้วย
ในเกาหลีใต้ คิมโซกยอง วัย 17 ปีเป็นนักเรียนหญิง ที่เป็นผู้นำในการประท้วงในกรุงโซลร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรม Youth for Climate Action
“ หนูไม่เข้าใจรัฐบาลของหนู ที่ไม่ลงทุนเพิ่มในพลังงานทดแทน แต่ยังลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป”
องค์การพลังงานสากลระบุกับสื่อ CNN ว่า เกาหลีใต้ใช้พลังงานทดแทนเพียง 2% เท่านั้นในปัจจุบัน ปัญหามลพิษในอากาศเป็นปัญหาร้ายแรงในเกาหลีใต้ หลังจาก 7 เมืองมีค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน.